เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่สวนป่า ท้าวอู่ทอง ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ร่วมกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมเอามื้อสามัคคี โดยการปลูกต้นไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จำนวน 360 ต้น ประกอบด้วย ต้นตาลโตนด ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม กันเกรา ประดู่ มะฮอกกานี ไม้แดง และต้นอ้อย ในพื้นที่ 9 ไร่ พร้อมทั้งนายนิวัติ น้อยผางรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายเสน่ห์ บุญสุข ที่ปรึกษาโดยมีนายวัฒนา เดียวสุรินทร์ พัฒนาการจังหวัดชัยนาท เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และนายณรงค์ สังขะโห ประธานศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน ให้การต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครสมานสามัคคีของคนชุมชน ในกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยการทำดีด้วยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นการน้อมนำในแนวทางตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้คนไทยและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน เป็นการจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เนื่องจากในวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate chang) จากพฤติกรรมของมนุษย์ในการเบียดเบียนธรรมชาติเป็นอย่างมาก เราควรร่วมกันลดโลกร้อน โดยการใช้ถังขยะเปียก จากเศษอาหาร เพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ในพื้นที่ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาให้พี่น้องประชาชนได้มาปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะปัจจัย 4 ในเรื่องอาหาร อาหารที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิต เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนแก่พี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ได้ร่วมกันปลูกต้นตาลโตนดหรือโหนด ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Licuala spinosa Thunb เป็นไม้สกุลในวงศ์ปาล์ม เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน 80-100 ปี โตเต็มที่สูงได้กว่า 18- 25 เมตร หรือมากกว่า เริ่มให้น้ำตาล เป็นพืชที่ขึ้นได้บนดินทุกชนิด ทนแล้ง และน้ำท่วมได้ดี ไม่มีผลต่อพืชอื่นๆ รอบข้าง เช่น นาข้าว สวนผัก ซึ่งประโยชน์ของการปลูกต้นตาลนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด น้ำหวานจากงวงตาล สามารถนำมาเป็นน้ำตาลมะพร้าว ทำเครื่องดื่มที่ เรียกว่าน้ำตาลเมา เนื้อจากผลมีสีเหลืองสามารถใช้แต่งสีอาหาร อาทิ ขนมตาล ส่วน เมล็ดอ่อน กินเป็นอาหารหวาน ที่เรียกว่า ลอนตาล ใบตาล ก็ยังสามารถ ใช้มุงหลังคา ลำต้น ใช้ทำเสาหรือหลักต่างๆ ได้ นี่คือ ประโยชน์ของต้นตาลที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น รวมถึง ต้นยางนา พะยูง ตะเคียนทอง พะยอมกันเกรา ประดู่ มะฮอกกานี และไม้แดง จะเห็นได้ว่า การปลูกไม้ 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผลกินได้ ไม้ใช้สอย เช่น ทอผ้าและไม้ฟืน ไว้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ จะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“การเอามื้อสามัคคี เป็นกิจกรรมต้นแบบที่แสดงออกซึ่งความร่วมมือร่วมใจที่ดีงาม เช่นเดียวกับการลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน เพื่อประสานความสามัคคี เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน น้อมนำตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อย่างกลมกลืน เพราะมีเป้าหมายปลายทางที่สอดคล้องกัน ต่างมุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุลในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลดีถึงการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้แข็งแกร่ง ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าหากทุกครัวเรือนร่วมลงมืออย่างจริงจัง ความมั่นคง พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ย่อมเกิดขึ้นได้ ดังบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ชุมชน ท้องถิ่นจะเกิดสุขอย่างยั่งยืน มีพลังที่เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับทุกสภาวการณ์ เป็นรูปธรรมดังคำกล่าวที่ว่า “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน” และเชิญชวนทุกท่านร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและน้อมนำหลักของพระองค์ท่านมาปฏิบัติ พร้อมร่วมรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป อธิบดีพช. กล่าว
นายวัฒนา เดียวสุรินทร์ พัฒนาการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีด้วยการปลูกต้นตาล เนื่องจาก โตนด คือ โคลน-ตมหรือดินโคลน เราจะพบตาลโตนด เป็นจำนวนมากในที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขัง ที่นาข้าว ที่ห้วย หนอง คลอง บึง อย่างชัยนาทและเพชรบุรี ประกอบกับเป็นต้นไม้ที่มีอายุยาวนาน สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตามแนวพระราชดำริ โดยเราจะมีการปลูกต้นตาลโตนด เรียงแถวจำนวน 360 ต้น ในพื้นที่ 9 ไร่ เป็นการปลูกรอบที่ดิน โดยมีระยะห่าง 2 เมตร เพื่อเป็นกำแพงเป็นคิ้ว เป็นจอบ เป็นคันล้อมแห่งธรรมชาติที่งดงาม ในอนาคตเพียง 6 ปีเท่านั้น ในพื้นที่สวนป่าท้าวอู่ทอง ก็จะมีความงดงาม ประกอบด้วย ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในอ้อมกอดของต้นตาลโตนด 360 ต้น ซึ่งเป็นรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตให้เกิดความยั่งยืน
นายณรงค์ สังขะโห ประธานศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน กล่าวว่า วันนี้ภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมากในการเข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี โดยการปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ท่านได้มีการแนะนำ การเพาะปลูกต้นไม้แต่ละประเภท และมีการแบ่งโซนการปลูก ตามลักษณะของภูมิศาสตร์ เช่น ไม้ประเภทที่ 1 ปลูกในพื้นที่น้ำท่วมหรือพื้นที่ลุ่ม จะเป็นช่วง westland ช่วงรอบๆ คอบเป็นน้ำซึมจากนา จะต้องเป็นไม้ทนน้ำ คือ ต้นยางนา มะฮอกกานี กรันเกรา และตะเคียน ส่วนไม้ที่ 2 ปลูกพื้นที่ดอน ต้นประยูง ประดู่ ต้นค่า และตะเคียง ขึ้นบนและ ไม้ที่ 3 ปลูกคู่กับต้นกล้วยซึ่งนำมาปลูกจำนวน 65 ต้น โดยปลูกหลุมเดียวกัน ให้เป็นพี่เลี้ยงซึ่งกันและกัน ไม้จะกินน้ำจากกล้วย เสมือนแก้มลิง กล้วยจะมีระยะเวลาอยู่ 3 ปี โดยวันนี้ได้มีการใส่เชื้อเห็ดในทุกต้นเชื้อเห็ดระโงก ทำให้รากเติบโต แข็งแรง และในปีที่ 2 ก็สามารถนำเห็ดมารับประทานได้ต่อไป และเป็นเรื่องที่น่าดีใจ ที่วันนี้เราได้เตรียมพื้นที่ปลูกป่า ด้วยต้นไม้ตาลโตนด ซึ่งได้รับคำแนะนำจากท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และในส่วนการปลูกต้นตาล ตาลโตนด จะปลูกรอบพื้นที่ทั้งหมด ระห่าง 2 เมตร แถวเดียว โดยให้ลึก 10 เซนติเมตรขึ้นไป โดยที่ห้ามให้ปลายหน่อหัก(จาวตาล) และปลูกที่ดีที่สุดใช้ระยะเวลา1 เดือน และงอกในดินอีก 6 เดือน เพื่อให้ต้นตาลโตนดมีความเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ถือว่า ต้นตาลโตนดเป็นราชาแห่งท้องทุ่ง