พมจ.ชัยนาท เยี่ยมปลอบขวัญ “เมียหลวง” ขอเป็นกาวใจ
“เรือนจำ”จ่อแยกแดนขัง”4 แกนนำ”กลุ่มราษฎร
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. จากกรณีที่มีการนำ “ใบกัญชา” มาเป็นอาหาร ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงทางวิชาการทั้งฝ่ายสนับสนุนและเห็นแย้ง โดยประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด คือ สารเมา หรือ THC จะทำให้เกิดอาการทางจิตหากบริโภคในระยะยาวและเป็นเวลานาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงกลไกที่จะก่อให้เกิดอาการทางจิตจากฤทธิ์ของกัญชา ว่า การบริโภคใบกัญชา ซึ่งมีปริมาณ THC ในระดับต่ำ ไม่อาจทำให้เกิดอาการทางจิตได้ เพราะการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า อาการทางจิตสัมพันธ์กับรหัสทางพันธุกรรม พร้อมขยายความเกี่ยวกับประเด็นรหัสพันธุกรรมเฉพาะของกัญชา ว่า งานวิจัยในปี 2561 พบว่า คนที่จะมีอาการทางจิตนั้น จะต้องเสพกัญชาจนติดซึ่งจะมีพันธุกรรมจำเพาะ เมื่อใช้แล้วจะถูกกำหนดให้ชอบและใช้บ่อยขึ้นจนกระทั่งติด ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงในสมองเฉพาะส่วน และเมื่อใช้ต่อเนื่องก็จะเกิดอาการทางจิต ต่อมาในปี 2562 มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งพบว่า คนที่ใช้กัญชาครั้งแรกในขนาดสูง และเกิดมีอาการทางจิตนั้น เกิดขึ้นจากการที่มีรหัสพันธุกรรมหายาก ทั้งนี้อาการทางจิตนั้นจะหายไปเองโดยที่ไม่ต้องรักษา และถือเป็นข้อห้ามไม่ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มี THC สูง แต่สามารถใช้กัญชาสายพันธุ์ที่มี CBD เด่น หรือมีอัตราส่วนระหว่าง CBD :THC มากกว่า 20:1
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาอาการติดกัญชาโดยที่จะมีอาการทางจิตหรือไม่มีก็ตามนั้น สามารถหยุดการเสพกัญชาได้ทันที โดยจะกลับเป็นปกติได้ในระยะเวลาประมาณ 28 วัน ทั้งนี้อาจช่วยให้อาการเสพติดนั้นดีขึ้น ด้วยการใช้กัญชาที่มี CBD สูงโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาโรคจิต หรือยาสงบประสาทชนิดอื่นๆ จากงานวิจัยที่มีในปัจจุบันจึงอยากสนับสนุนให้มีการนำส่วนอื่นของกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอกมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน และใช้ในการประกอบอาหาร เพราะปริมาณในส่วนที่จะออกฤทธิ์ทางจิตประสาทนั้นมีน้อยมาก การใช้กัญชามาปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติถือว่าเป็นสิ่งที่มีความปลอดภัย