การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ต้องหันมาจัดการเรียนการสอนออนไลน์แทนการเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ต้องหยุดชะงัก
สถาบันวิทยาลัยชุมชน (สวชช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กำกับดูแลวิทยาลัยชุมชน (วชช.) 20 แห่งทั่วประเทศ ได้มีการปรับการเรียนการสอน มุ่งเน้นให้ วชช.ทุกแห่ง มีระบบกระจายสัญญาณ เครื่องมืออุปกรณ์ การฝึกอบรมให้บุคลากรและอาจารย์มีทักษะการสอนออนไลน์ เข้าใจการจัดทำเนื้อหา และจัดอุปกรณ์ที่ขาดแคลนให้นักศึกษา ทั้ง Sim Imternet โน้ตบุ๊ก หูฟัง ไมค์ รวมถึงชุด wifi เป็นต้น
“ปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา วชช.ทุกแห่ง ได้ดำเนินการตามเป้าหมาย เป็นสถาบันการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน เพิ่มทักษะอาชีพตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงให้แก่เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน รวมถึงช่วยพัฒนาผู้ด้อยโอกาสในสังคมตามมติสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ยากจน 10% ล่างให้เข้าถึงการศึกษาและมีอาชีพ มีรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการระบาดของโควิด วชช.ทั้ง 20 แห่ง จัดการเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนในชุมชนทุกช่วงวัย ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้า” ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน เล่าถึงภารกิจ สวชช.ในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา พร้อมกับตอกย้ำความสำเร็จอีกว่า
จากความมุ่งมั่นดังกล่าวทำให้ปีการศึกษา 2564 วชช.มีนักศึกษาในระดับอนุปริญญาเพิ่มขึ้นถึง 8% ทั้งหลักสูตรระยะสั้นที่มากถึง 58,452 คน หรือ 34% โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักสูตรระยะสั้นที่ได้รับความนิยม อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ เช่น ผ้าพื้นเมือง อาหารพื้นบ้าน การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงหลักสูตรการตัดต่อ การถ่ายคลิปวิดีโอ เทคนิคการถ่ายภาพโฆษณา เป็นต้น และเนื่องจากเป็นหลักสูตรตอบโจทย์คนในพื้นที่ ค่าเล่าเรียนต่ำ และสามารถเทียบโอนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) ยะลา ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง วชช.กับ มรภ.ยะลา ทำให้คนในพื้นที่สนใจเข้ามาเรียนกับ วชช.มาก นอกจากนี้ วชช.ยังได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจากกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) ต่อเนื่องกันทุกปี ขณะเดียวกัน วชช.ยังดูแลครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุได้เข้าฝึกอาชีพ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นจำนวนมาก
ดร.สิริกร ยังฉายภาพเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากนี้ วชช.ยังได้ดำเนินงานวิจัย 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.วิจัยแก้จน โดยร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่แก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท ยโสธร มุกดาหาร ครอบคลุมผู้ยากจน 131,040 คน และสามารถนำเสนอโมเดลแก้จนรูปแบบต่างๆ อาทิ แพะเงินล้าน ที่ชัยนาท หรือส่งออกใบหม่อนเลี้ยงสัตว์ และ 2. โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบชุมชนนวัตกรรม ทำให้เกิดนวัตกรรมชุมชนถึง 27 นวัตกรรม และในปีที่ผ่านมา ยังถือเป็นปีแรกที่ วชช. 10 แห่ง ได้ร่วมงานวิจัยกับสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่นภายใต้ “ธัชชา” เพื่อสำรวจสืบค้นเกี่ยวกับช่างศิลป์ท้องถิ่น
ก้าวเดินต่อไปของ วชช.จะมุ่งพัฒนาตามพันธกิจกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่ง อว.มีนโยบายในการทำกรอบแผนการปรับโฉม (Reinventing) เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของอุดมศึกษา ซึ่งในส่วนของ วชช. ได้จัดทำแผนพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์แผนไทย การจัดการโลจิสติกส์ เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคนิคเครื่องกล โดยสาขาดังกล่าวตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ และยุทธศาสตร์ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เน้นพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเป้าหมายระยะแรกจะดำเนินการใน 10 วชช.และขยายผลให้ครบทุก วชช.ภายในปี 2570
ในปี 2565 สวชช.จะขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยและหลักสูตรด้านสุขภาพ โดยนำร่องที่ วชช.ตาก จะมีการผลักดันให้เกิดโรงเรียนการแพทย์แผนไทย และจะเป็นต้นแบบให้ วชช.อื่นๆ โดยปีนี้อยู่ในช่วงขออนุมัติจัดตั้งสถานพยาบาลควบคู่การขับเคลื่อนให้เป็นโรงเรียนการแพทย์แผนไทย ดูแลรักษา 4 สาขา ได้แก่ ผดุงครรภ์ไทย เภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย และนวดไทย คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะทำหน้าที่กำกับทิศทางการแพทย์แผนไทย และหลักสูตรสุขภาพ โดยจะใช้ชื่อว่า “ตากสัปปายะ” ใช้ธรรมชาติบำบัด คาดว่าจะเปิดทำการอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.2565 และมีแผนขยายไปสู่ วชช.มุกดาหาร วชช.สระแก้ว และวชช.สงขลา ตามลำดับ
“นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเบื้องต้น สภาสถาบัน วชช. ได้มีมติวางแผนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือช่วยปรับปรุงระบบทำงานหลังบ้าน หรือ BackOffice ตั้งเป้าภายใน 4-6 เดือน จะปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ ลดภาระงานให้แก่บุคลากรของ วชช. และจะใช้ วชช.สุโขทัย เป็นต้นแบบ วชช.ดิจิทัล ก่อนขยายไปสู่ วชช.อื่นๆ ต่อไป” ดร.สิริกรกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ นายนำชัย กฤษณาสกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน กล่าวเสริมว่า ปีการศึกษา 2565 สวชช.เตรียมเดินหน้าปรับทิศทางการเข้าถึงกลุ่มผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส ผู้ขาดโอกาสมากขึ้น โดยหันมาพัฒนาหลักสูตร Non-credit ทั้ง upskill และ reskill ตามบริบทพื้นที่ เช่น หลักสูตรเทคโนโลยีการเกษตร หลักสูตรรองรับการท่องเที่ยวของชุมชน หลักสูตรการประกอบอาหารและผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเล หลักสูตรเกี่ยวกับสมุนไพร หลักสูตรเกษตรอินทรีย์ หลักสูตรการทอผ้าพื้นเมือง หลักสูตรการขาย Online ฯลฯ เป็นต้น ขณะเดียวกันจะมีการปรับงานวิจัยมุ่งเน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้ 20 วชช.ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่
ส่วนการเดินหน้า วชช.สู่วิทยาลัยดิจิทัลนั้น จะส่งเสริม วชช.20 แห่ง ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำงาน (Digital transformation) วชช.จะใช้แพลตฟอร์มในการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ผ่านรูปแบบ Youtube, Google for Education, Moodle, Social Media, Thai Mooc ในปี 2566 จะมีแพลตฟอร์ม LMS ที่เป็นของ สวชช.เอง และในปี 2567 สวชช.วางแผนจะให้ผู้เรียนสามารถเรียนผ่านระบบดิจิทัลได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยระบบ (fully online) และระบบผสมผสาน (Blended online) ระบบดิจิทัลจะถูกนำมาใช้ตั้งแต่การลงทะเบียนชำระเงินจนถึงขั้นรับวุฒิบัตร
จากบทบาทหน้าที่ของ วชช. ดังกล่าวถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของ วชช. ที่จะก้าวไปสู่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับความจริงจัง และจริงใจของชาว วชช.ที่จะรวมพลังก้าวไปสู่จุดหมายดังกล่าวได้หรือไม่
ถือเป็นบทพิสูจน์อนาคตสถาบันอุดมศึกษาเพื่อชุมชน