นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ในประเทศวันนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น 248 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตรายล่าสุดนี้ เป็นเพศชาย อายุ 88 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัว คือ โรคไต, เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ประวัติความเสี่ยงมีแค่สมาชิกในครอบครัว และไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ ที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี จากการสอบสวนโรคไม่พบว่ามีสมาชิกในบ้านติดเชื้อเพิ่ม
ผู้เสียชีวิตรายนี้ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. โดยมีอาการไอ และหายใจเหนื่อย ต่อมาวันที่ 27 ก.พ. จึงไปตรวจที่ รพ.เอกชน เอ๊กซเรย์ปอดพบว่ามีความผิดปกติ ต่อมาวันที่ 2 มี.ค. เหนื่อยมากขึ้น จึงส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 และพบว่าติดเชื้อจริง มีการใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการไม่ดีขึ้น และทรุดลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในวันที่ 16 มี.ค.
สำหรับสถานการณ์การลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในย่านตลาดบางแค จ.กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11-17 มี.ค.64 ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อแล้ว 268 ราย จากการตรวจเชิงรุกใน 7,299 ราย
ขณะที่สถานการณ์ของ จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 มี.ค.64 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรวม 766 ราย โดยมีความเชื่อมโยงทั้งหมด 1 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี 681 ราย, กรุงเทพฯ 17 ราย, พระนครศรีอยุธยา 17 ราย, นครนายก 12 ราย, สระบุรี 7 ราย, อ่างทอง 7 ราย, นนทบุรี 5 ราย, สมุทรปราการ 5 ราย, ชัยนาท 3 ราย, นครปฐม 3 ราย, นครราชสีมา 3 ราย, ปราจีนบุรี 3 ราย, เพชรบุรี 2 ราย และขอนแก่น 1 ราย
นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-16 มี.ค.64 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วทั้งสิ้น 53,842 ราย คิดเป็น 58% ของเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. 30,853 ราย, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,036 ราย, บุคคลที่มีโรคประจำตัว 2,814 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 14,137 ราย
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิดที่พบในกลุ่มก้อนใหม่ที่ตลาดย่านบางแค ที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความกังวลต่อความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ นั้น ยืนยันว่าขณะนี้จำนวนเตียงในสถานพยาบาลของกรุงเทพฯ มีเพียงพอรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขล่าสุดจนถึงวันที่ 17 มี.ค.64 ยังมีจำนวนเตียงว่างอยู่เกือบ 1,600 เตียง แบ่งเป็น ICU 91 เตียง, Cohort 563 เตียง และ Hospitel 34 เตียง
“รพ.ในเขตกรุงเทพฯ มี 1,900 เตียง ใช้ไปแล้วกว่า 200 เตียง ยังว่างอยู่อีกเกือบ 1,600 เตียง ให้ความมั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกทุกคนจะนำเข้า รพ.ทุกคน และจะยังมีการค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมการแพทย์ระบุ
–อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: [email protected]–