เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และผู้แทนกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงนาและการสาธิตการทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Thai Rice NAMA ณ กลุ่มนาแปลงใหญ่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับ และร่วมให้ข้อมูล
โดย นายวราวุธ กล่าวว่า Thai Rice NAMA ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีแนวทางการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้เป็นอย่างดี และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการขยายผลตามแนวทางของโครงการฯ ไปยังพี่น้องเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เนื่องจากการทำนาของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็น 26.64 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ ร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และการทำนาที่ขังน้ำในนาข้าวตลอดอายุข้าวจะมีการปล่อยก๊าซมีเทน ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 28 เท่า รวมทั้งการเกิดภัยแล้งและอุทกภัย
นายวราวุธ กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สะท้อนให้เห็นว่า ทส. พร้อมแสวงหาแนวทางความร่วมมือทั้งทางด้านแหล่งทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมศักยภาพ มาสนับสนุนภาคการเกษตร รวมถึงภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศไทย
โอกาสนี้ นายวราวุธ ยังได้รับฟังการนำเสนอข้อมูลโครงการ Thai Rice NAMA และการเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว พร้อมทั้งพูดคุยกับตัวแทนพี่น้องเกษตรกร ตลอดจนชมวิธีการและเทคนิค Laser Land Leveling (LLL) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี 4 ป. หลักสำคัญของการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การปรับระดับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการแปรสภาพฟางข้าวและจัดการตอซังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำ ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ ลดการใช้สารเคมีในนาข้าว และลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเนื่องจากการใช้น้ำในการปลูกข้าวน้อยลง และเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวได้ 5-10%
สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Thai Rice Nama ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ NAMA Facility เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาแบบลดโลกร้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว ปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การปลูกข้าวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลจากการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2564 พบว่า มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 25,000 คน สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้กว่า 305,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่