ทุ่ม 2 หมื่นล้านเวนคืนตัดถนนใหม่ 2 สาย บูมโซนตะวันตกเชื่อม ‘กทม.-นนท์-นครปฐม-ปทุม’
ปัจจุบัน “โซนตะวันตก” ของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรีและปทุมธานี มีการขยายตัวของเมือง จากการพัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทำให้ถนนสายหลักและสายรองที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการจราจรที่คับคั่ง
ล่าสุดกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กำลังเดินหน้าตัดถนน 2 สายใหม่ ใช้เงินเวนคืนที่ดินและก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและบรรเทาการจราจรในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต
สำรวจเสร็จแล้ว “นครอินทร์-ศาลายา”
โครงการแรก”ถนนนครอินทร์-ศาลายา”มีระยะทาง 12 กิโลเมตร หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดวันที่ 20 ตุลาคม 2563 อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใน ต.บางใหญ่ ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ ต.บางคูเวียง ต.ปลายบาง ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พ.ศ. ….
ขณะนี้กรมทางหลวงชนบท ได้สำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำการเวนคืนที่ดินเสร็จแล้ว โดยค่าเวนคืนลดลงจากกรอบที่ตั้งไว้ 4,392 ล้านบาท อยู่ที่ 2,703 ล้านบาท แยกเป็น ที่ดินถูกเวนคืน 778 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ดินกว่า 356 ไร่ วงเงิน 2,354.9 ล้านบาท อาคารสิ่งปลูกสร้าง 341 รายการ วงเงิน 263.44 ล้านบาท ไม้ยืนต้น พืชและอื่นๆ จำนวน 286 แปลง วงเงิน 13.6 ล้านบาท ค่าทดแทนที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ วงเงิน 13.65 ล้านบาท โดยมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ถูกเวนคืน 501 ราย ขณะที่ค่าก่อสร้างเพิ่มจากเดิมประมาณการณ์ไว้ 4,301 ล้านบาท เป็นวงเงิน 4,700 ล้านบาท
รูปแบบโครงการก่อสร้างเป็นถนนแนวใหม่ ขนาด 6 ช่องจราจร พาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 ตำบล และ 28 หมู่บ้านและชุมชน มีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงชนบทสาย นฐ.5035 จากนั้นแนวจะวางตัวไปทางทิศตะวันออก ผ่านคลองตาพริ้ง จุดตัดทางหลวงชนบทสาย นฐ.3004 ที่กม.ที่ 3+500 ข้ามคลองนราภิรมย์ ตัดผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าวตัดทางหลวงชนบทสาย นบ.1001 ข้ามคลองจีนบ่าย ข้ามคลองขุนเจน โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่
เบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.5035 ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง จากนั้นเบี่ยงไปทางขวาวางแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองโสนน้อยตัดผ่านทางหลวงชนบทสาย นบ.1001 บริเวณซอยอินทนิล เบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่โล่งด้านหลังหมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์
จากนั้นข้ามคลองบางนาและคลองประปา ก่อนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านมัณฑนากับอาคารโครงการบ้านเอื้ออาทรบางกรวย (วัดพระเงิน) โดยแนวเส้นทางจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกเชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง
ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 มีระยะเวลา 5 ปี หลังสำรวจการเวนคืนเสร็จแล้ว กรมทางหลวงชนบทจะจัดสรรงบประมาณปี 2567 เพื่อจ่ายค่าเวนคืน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 สร้างเสร็จในปี 2571 และเปิดใช้งานในปี 2572
จะช่วยแก้ไขการจราจรติดขัดบนถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี เปิดพื้นที่ตาบอดให้เกิดการพัฒนารองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จ.นนทบุรีและนครปฐม ตลอดจนเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
ทุ่มหมื่นล้นผุดแนวใหม่ พุทธมณฑลสาย3-ถนน340
อีกโครงการกำลังอยู่ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม เป็นการก่อสร้างถนนแนวใหม่ จากถนนพุทธมณฑลสาย3-ถนนสาย340(ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี-ชัยนาท) แนวเส้นทางจะพาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯพื้นที่เขตทวีวัฒนา, จ.นนทบุรี 4 อำเภอ มีบางกรวย บางใหญ่ ไทรน้อย บางบัวทอง และจ.ปทุมธานีที่อำเภอลาดหลุมแก้ว
แนวเส้นทางจะอยู่ห่างจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตกประมาณ 5-8 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 บริเวณทางแยกจุดตัดกับถนนศาลา ธรรมสพน์ จากนั้นแนวจะตรงไปทางทิศเหนือ ข้ามทางรถไฟสายใต้ ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เข้าพื้นที่จ.นนทบุรี มุ่งตรงไปทิศเหนือตัดกับแนวถนนโครงการ ถนนนครอินทร์ – ศาลายา(จะสร้างในอนาคต) ตรงไปตัดกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี แล้วข้ามคลองประปามหาสวัสดิ์ คลองพระพิมล ตัดกับถนนบางกรวย – ไทรน้อย จากนั้นข้ามคลองลากค้อน เข้าพื้นที่จ.ปทุมธานี และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนบางบัวทอง – สุพรรณบุรี – ชัยนาท รวมระยะทาง 25.85 กิโลเมตร
รูปแบบโครงการจะก่อสร้าง เป็นถนนขนาด 10 ช่องจราจร เหมือนถนนราชพฤกษ์ เป็นถนนไป-กลับ 6 ช่องจราจร พร้อมเกาะกลาง ทางคู่ขนานข้างละ 2 ช่องจราจร ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินเวนคืนที่ดินและก่อสร้างกว่า 10,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่มีโครงการหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทางบริษัทที่ปรึกษาจะพยายามเบี่ยงแนวเพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินไปสร้างบนพื้นที่ว่างยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แทน