เผยแพร่:
ปรับปรุง:
หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผมพูดถึงบรรดา 279 นักวิชาการที่เข้าชื่อกันเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยกเลิกการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ด้วยเหตุผลอันชวนบ้องตื้นและขบขันเป็นอย่างมาก
ทั้ง 279 นักวิชาการอ้างเหตุผลว่า 1.นายณัฐพลมีความบริสุทธิ์ใจและจรรยาบรรณทางวิชาการ เพราะมิได้นิ่งนอนใจหรือบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง และขอปรับแก้ข้อความที่ผิดพลาดดังกล่าวในทันที แต่ตามระเบียบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่ได้รับอนุมัติแล้วจะกระทำมิได้ กระนั้นเมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์ หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ซึ่งนายณัฐพลเรียบเรียงปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ของตน นายณัฐพลก็ได้แก้ไขจุดผิดพลาดที่ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพรท้วงติงด้วย
ข้อ 2 พวกเขาอ้างว่า มีความพยายามเอาความผิดพลาดเพียงประเด็นเดียวมาโจมตีและขยายผลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ซ้ำร้ายยังเป็นความผิดพลาดที่นายณัฐพลได้ยอมรับและแก้ไขแล้วในหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ในวิทยานิพนธ์ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความผิดพลาดในการอ้างอิงและการตีความไม่ได้ผันแปรโดยตรงกับสาระสำคัญหรือข้อเสนอหลักของวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล อันที่จริงแล้วกระทั่งงานวิชาการจำนวนมากของนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลก็พบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนเช่นกัน เช่น งานของ Fernand Braudel และ Edward Said ทว่า ตราบเท่าที่ข้อผิดพลาดเหล่านั้นไม่ได้กระทบต่อข้อเสนอหลักของงานวิชาการ งานเหล่านั้นก็ยังทรงพลังทางปัญญาอยู่จนถึงปัจจุบัน
และข้อสุดท้ายที่พวกเขาอ้างคือ เสรีภาพทางพวกเขาอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะกระทบต่อการวิจัยด้านไทยศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
ไม่ต้องเอ่ยหรอกว่า 279 นักวิชาการมีใครบ้าง ก็พวกขาประจำนั่นแหละ
เอาแบบรวบรัดก็คือว่า เรื่องเริ่มจาก ศ.ดรไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องการทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 จนไปพบกับวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2552 และเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการประเมินผลในระดับดีมาก
ต่อมาวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ถูกนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2 เล่มคือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) และหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ส่วนตัวผมอ่านขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี จบนานแล้วก็นับเป็นหนังสือที่อ่านสนุก ถ้าไม่ได้สนใจว่าที่มาที่ไปที่เอามาเขียนนั้นถูกต้องหรือไม่
แต่อาจารย์ไชยันต์พบว่าวิทยานิพนธ์มีความผิดพลาดถึง 30 กว่าจุด ที่ออกมาเปิดเผยแล้วตอนนี้มี 2 จุดสำคัญคือ กล่าวถึงประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะนั้น คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ได้เข้าไปประทับนั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีนายกรัฐมนตรีคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วเข้าไปประทับนั่งเหมือนกับกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เมื่อตรวจสอบจากแหล่งอ้างอิงที่นายณัฐพลกล่าวถึงในวิทยานิพนธ์คือ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ปรากฏว่า ไม่เป็นความจริง และเมื่อตรวจสอบแหล่งอ้างอิงอีกแหล่งคือ หอจดหมายเหตุของสหรัฐฯ ก็พบว่าไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นเรื่องที่นายณัฐพล “กุ” ขึ้นมาเอง
จากนั้นอาจารย์ไชยันต์มาเปิดเผยอีกจุดที่นายณัฐพลเขียนว่า “แต่การรัฐประหารครั้งนี้ (พ.ศ. 2490/ผู้เขียน) ไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”
อาจารย์ไชยันต์ตั้งคำถามว่านายณัฐพลรู้ได้อย่างไรว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงมีบทบาทในการรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน ?
เมื่ออาจารย์ไชยันต์ไปดูแหล่งข้อมูลที่นายณัฐพลอ้าง จากหน้า 210 ในหนังสือของ Edwin Stanton ชื่อ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ที่ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2500 ไม่มีข้อความที่นายณัฐพลอ้างว่า “กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน” ได้เลย
แต่นายณัฐพลอ้างว่า วิธีวิทยาที่ใช้คือ การตีความทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการที่นักประวัติศาสตร์ใช้กันทั่วไป เป็นกระบวนการวิเคราะห์ ประเมิน และพรรณนาข้อมูลจากหลักฐาน โดยคำนึงถึงบริบททั้งก่อนและหลัง โลกทัศน์ ภูมิหลัง ตลอดจนเอกสารแวดล้อม เพื่อสร้างคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น การตีความประวัติศาสตร์จะต้องไม่นำข้อความใดข้อความหนึ่งแยกโดดๆ ออกจากบริบท เวลา สถานที่ และมนุษย์ผู้กระทำ ซึ่งเลือกที่จะพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ตนได้ประโยชน์
พูดง่ายๆ คือนายณัฐพลอ้างว่าตัวเองไม่ได้มั่วที่นำข้อมูลที่ไม่ตรงกับแหล่งอ้างอิงมาเสนอแต่เป็นการ “ตีความของตัวเขาเอง”
แม้อาจารย์ไชยันต์จะยังไม่เปิดเผยความผิดพลาดของวิทยานิพนธ์ต่อสาธารณะออกมาทั้ง 30 จุด แต่ 2 จุดที่อาจารย์ไชยันต์เปิดเผยออกมา จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะเป็นข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ การโจมตีว่าพระมหากษัตริย์ทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเหมือนกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ประเด็นคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ กำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาถึงความบกพร่องของวิทยานิพนธ์ดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของสถาบัน เป็นเรื่องภายในของเขา การที่279นักวิชาการอ้างว่านายณัฐพลแก้ไขแล้วในหนังสือที่ออกมารวมเล่มย่อมเป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนความผิดพลาดของวิทยานิพนธ์
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเฉพาะของนักศึกษาผู้เสนอวิทยานิพนธ์กับสถาบันการศึกษา มีด้วยหรือครับว่า เราสามารถอ้างว่าเราแก้ไขในหนังสืออื่นแล้วเพื่อลบล้างความผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ได้ ส่วนที่วิทยานิพนธ์ไม่สามารถแก้ไขได้ก็ถูกต้องแล้ว เพราะไม่มีที่ไหนในโลกที่จบการศึกษาไปแล้วสามารถเอาวิทยานิพนธ์ไปแก้ไขเพื่อลบล้างความผิดพลาดได้เรื่อยๆ
การอ้างว่ามีข้อผิดพลาดเพียงจุดเดียวก็ไม่ใช่เพราะอาจารย์ยืนยันว่ามีข้อผิดพลาดถึง 30 จุด ข้อกล่าวหาของอาจารย์ไชยันต์จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตามแต่ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้อนุมัติวิทยานิพนธ์ให้นายณัฐพลจบการศึกษาระดับปริญญาเอกก็สมควรที่จะต้องสืบสวนหาความจริงว่า เป็นไปตามข้อกล่าวหาเช่นนั้นหรือไม่เพื่อรักษามาตรฐานของสถาบัน
การอ้างว่านักวิชาการระดับสากลก็มีความผิดพลาดเช่นกันก็เป็นข้ออ้างที่ตลกมาก คำถามว่าข้อผิดพลาดที่ว่านั้นเป็น วิทยานิพนธ์ที่ทำให้จบการศึกษาเช่นเดียวกันหรือไม่ ความผิดพลาดนั้นเป็นความผิดพลาดเช่นเดียวกับการ “กุ” เรื่องโดยการอ้างอิงที่เป็นเท็จหรือไม่ หรือเราสามารถอ้างว่า เคยมีคนทำผิดแบบนี้มาแล้วเพื่อตัวเองจะทำผิดด้วยได้หรือ
ในฐานะทั้ง 279 คนส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการถ้าพวกท่านเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาถามว่า นักศึกษาสามารถอ้างอิงเป็นเท็จเช่นนั้นกับการทำวิทยานิพนธ์ได้จริงหรือ และถ้าท่านตรวจพบว่านักศึกษากระทำเช่นนั้นท่านก็ยอมรับได้เช่นนั้นหรือ
ข้อสุดท้ายยิ่งตลกมาก 279 นักวิชาการอ้างว่า การตรวจสอบดังกล่าวทำให้เกิดความหวาดกลัวในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะกระทบต่อการวิจัยด้านไทยศึกษาทั้งในและต่างประเทศ อ้างข้อนี้เป็นข้ออ้างที่ปัญญาอ่อนมาก สิ่งที่เขาตรวจสอบก็คือ การอ้างข้อความอันเป็นเท็จไว้ในวิทยานิพนธ์ เขาไม่ได้ห้ามตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด
นายณัฐพลถูกกล่าวหาว่า มีการอ้างเรื่องในวิทยานิพนธ์ที่เป็นการเท็จ แต่บังเอิญเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การอ้างเช่นนั้นจึงเป็นการเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาบังหน้าเพื่อปกป้องนายณัฐพลเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้ข้อกล่าวหาว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นเรื่องที่กำลังกล่าวขานกัน และกลายเป็นประเด็นที่เอามาโจมตีในหลวงรัชกาลปัจจุบันและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจะบอกว่า การบิดเบือนที่เกิดขึ้นในวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพลนั้นไม่ใช่สาระสำคัญก็คงจะไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องดังกล่าวก็คงจะไม่เป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้ และใน 279 นักวิชาการก็มีคนที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของม็อบอย่างชัดแจ้ง
และในองค์ประกอบของความเป็นรัฐ รูปแบบของรัฐและระบอบการเมืองย่อมเป็นสาระสำคัญ การกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยดังเช่นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นนั้นจึงเป็นสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์ด้วย
แถลงการณ์ของ 279 นักวิชาการจึงเป็นแถลงการณ์ที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนมากๆไม่สมราคาเลย
ผมคิดว่า ในฐานะทั้ง 279 เป็นนักวิชาการย่อมอยู่รู้แล้วถึงมาตรฐานของการทำวิทยานิพนธ์ ผมจึงคิดว่าการออกมาทั้ง 279 คนนั้นเพียงต้องการปกป้องพวกพ้องเท่านั้น เพื่อไม่ต้องการทำให้หนังสือของนายณัฐพลซึ่งเป็นเครื่องมือในการมอบเมาคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีความมัวหมอง
ดังนั้นทั้ง 279 คนไม่ได้ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ แต่ปกป้องอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองฝักใฝ่ หรือเรียกได้ว่าพยายามจะใช้กฎหมู่ทางวิชาการก็ว่าได้