แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ภายใต้กลุ่มจังหวัดครอบคลุม 13 กลุ่ม 56 จังหวัด โดยกลุ่มจังหวัดภาคกลางได้ร่วมกันขับเคลื่อนตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรอินทรีย์ได้แบบครบวงจร
นางสาวสมบัติ พุทธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงการลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ลพบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ที่ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ศึกษาห่วงโซ่คุณค่าของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิ อินทรีย์ และเป็นข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์พันธุ์หอมมะลิ 105 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มกษ. 9000 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางตอนบนรวม 115 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 3,739 ไร่
ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3,344.29 บาท ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 120-150 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 510.22 กก. เกษตรกรได้ผลตอบแทนไร่ละ 5,612.41 บาท คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิหรือกำไรไร่ละ 2,268.12 บาท
ในขณะที่การปลูก ข้าวทั่วไปใช้สารเคมี มีต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 4,175.31 บาท ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 120-150 วันเท่ากัน ให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 657.05 กก. เกษตรกรได้ผลตอบแทนไร่ละ 5,144.75 บาท กำไรไร่ละ 969.44 บาท
จะเห็นได้ว่า การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีต้นทุนต่ำกว่าข้าวทั่วไป 20% เนื่องจากไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เพียงปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารชีวภาพบางชนิดที่สามารถทำได้เอง จึงทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ต่ำกว่าการผลิตข้าวทั่วไป แต่กลับให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่าข้าวทั่วไปกว่า 3 เท่า
นางสาวสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมถึง การจำหน่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางตอนบนว่า จะแบ่งเป็นการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ให้โรงสีข้าวอินทรีย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และชัยนาท 36% จำหน่ายให้โรงสีข้าวอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร 28% สำหรับราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ความชื้น 15% อยู่ที่ตันละ 14,000-16,000 บาท/ตัน ความชื้น 25-28% อยู่ที่ตันละ 11,000 บาท
ผลผลิตส่วนที่เหลืออีก 36% จะจำหน่ายเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์แปรรูป โดยเกษตรกรจ้างโรงสีข้าวอินทรีย์ดำเนินการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงและนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคเองโดยตรงในราคา กก.ละ 40-60 บาท และจำหน่ายทางออนไลน์ราคาอยู่ที่ กก.ละ 70-90 บาท.