กรมชลฯ เร่งสูบทอยน้ำจาก คลองชัยนาท – ป่าสัก เติมน้ำให้แม่น้ำบางขาม หลังฝนทิ้งช่วง ประสบภัยเเล้ง กระทบพื้นที่ จ.ลพบุรี
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนตลอดจนเกษตรกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งรับน้ำต้นทุนมาจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่อย่างจำกัด ปัจจุบัน (24 มิ.ย. 64) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 7,915 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้เพียง 1,219 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันเพียง 11.28 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ต้องระบายน้ำรวมกันถึง 32.63 ล้าน ลบ.ม.
กรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนการเกษตรอย่างเพียงพอตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ
ด้าน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ จ.ลพบุรี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง จึงได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เร่งเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นการด่วน ในเบื้องต้นได้ประสานเครื่องสูบน้ำจากสำนักเครื่องจักรกลเข้าติดตั้งในพื้นที่ บริเวณปากคลองส่งน้ำ 13 ขวา และปากคลอง Waste Way บ้านกล้วย เพื่อเร่งสูบทอยน้ำจาก คลองชัยนาท – ป่าสัก เติมน้ำให้กับแม่น้ำบางขาม พร้อมทำความเข้าใจกับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ดังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในภาวะฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงการกำหนดรอบเวรการสูบน้ำ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวมีแผนขุดลอกแม่น้ำบางขาม โดยในระยะที่ 1 ทำการขุดลอกระยะทาง 14 กิโลเมตร พร้อมแก้มลิง 3 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หากขุดลอกแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำบางขาม ได้กว่า 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร
นายประพันธ์ มณีขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.มหาสอน อ.บ้านหมี่ กล่าวว่า ในปีนี้ฝนมาเร็วประมาณเดือนเมษายน เกษตรกรบางส่วนจึงทำการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 แต่พอเดือนพฤษภาคมเกิดฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ข้าวที่ปลูกไปแล้วได้รับความเสียหาย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ทำการสูบน้ำช่วยให้เกษตรกรที่เพาะปลูกไปแล้วอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดรอบเวรการสูบน้ำให้กับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ตนขอเป็นตัวแทนของเกษตรกรที่จะขอขอบคุณกรมชลประทานที่ไม่ทอดทิ้ง ลงพื้นที่พบปะและหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรในพื้นที่โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่มาอย่างต่อเนื่อง
ติดตาม ช่อง 8 ได้ทาง
facebook.com/thaich8