พระนครศรีอยุธยา – “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่เยี่ยมชาวอยุธยา – สระบุรี ติดตามแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมกำชับเร่งลดปัญหาแล้งในพื้นที่ แฟนคลับมารับหอมแก้มกันเลยทีเดียว
บ่ายวันนี้ ( 8 มี.ค.) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพบปะประชาชนในพื้นที่ จ.อยุธยา และ จ.สระบุรี โดยลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนงานและโครงการสำคัญในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ณ วัดสะตือพุทธไสยาสน์ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยมีนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมของจังหวัด จากนั้น รองเลขาธิการ สทนช. ได้นำเสนอแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างและแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอความก้าวหน้าโครงการระบายน้ำหลาก ชัยนาท – ป่าสัก – อ่าวไทย ตามแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ฝั่งตะวันออก และการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอท่าเรือที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนพระราม 6 และ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นำเสนอโครงการก่อสร้างในแผนการพัฒนาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
จากนั้นเดินพบปะพี่น้องประชาชนที่มาให้การตอนรับ มีการขอเข้ามาขอถ่ายภาพขึ้นป้ายให้กำลังใจสนับสนุนการทำงาน พร้อมกันนี้ยังมีโดยแฟนคลับที่ให้การตอนรับหอมแก้ม อีกด้วย จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำของ จ. สระบุรี ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สระบุรี อ.หนองแค จ.สระบุรี
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ พลเอก ประวิตร ได้กล่าวมอบนโยบายให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยพื้นที่จังหวัดอยุธยาซึ่งมีสภาพโดยรวมเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมักประสบปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่ทำกิน รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจ จึงได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผน โดยเฉพาะโครงการคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก, ป่าสัก-อ่าวไทย และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่อำเภอท่าเรือ
ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหก มอบกรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ รวมถึงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเพื่อเตรียมรับฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง พร้อมมอบกรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งก่อสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมบริเวณเขตโบราณสถานเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น สำหรับพื้นที่ จ.สระบุรี นั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เนื่องจากได้มีการดำเนินการตามแผนงานโครงการเร่งด่วนไปแล้วหลายโครงการ ทั้งงานปรับปรุงซ่อมแซม งานเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แต่ยังคงมีแผนงานที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างครอบคลุมทั้งระบบ
จึงได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งบูรณาการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้เกิดรูปธรรม มอบกรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการด้านทรัพยากรน้ำ โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท- ป่าสัก,ป่าสัก-อ่าวไทยและปรับปรุง บำรุงรักษา ซ่อมแซมอาคารชลประทาน ระบบระบายน้ำให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
นอกจากนี้ ทั้งสองพื้นที่ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งและรายงานผลต่อ กนช. อย่างต่อเนื่อง และขอให้ทั้ง 2 จังหวัด เร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์โครงการด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดดังกล่าวว่า พื้นที่ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่บ่อยครั้ง รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง มีผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปี 61 – 65 มีแผนงาน/โครงการ จำนวน 1,058 แห่ง/บ่อ พื้นที่รับประโยชน์ 228,806 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 15,592 ครัวเรือน และดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ระยะทางประมาณ 11,400 เมตร
สำหรับปีงบประมาณ ปี 66 – 67 ตัวอย่างโครงการสำคัญที่จะดำเนินการได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางปะอิน โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ประตูระบายน้ำปากคลองบางหลวง ต.บางหัก อ.บางบาล เป็นต้น สำหรับการพัฒนาในพื้นที่ จ.สระบุรี มีผลการดำเนินงานปี 61 – 65 มีแผนงาน/โครงการจำนวน 668 แห่ง/บ่อ พื้นที่รับประโยชน์ 82,390 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 11,925 ครัวเรือน มีดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะทาง 2,460 เมตร และปีงบประมาณ 66 – 67 จะมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการตามแผน เช่น โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการประตูระบายน้ำพระเอกาทศรถ อ.หนองแค โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก บริเวณวัดเชิงราก โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น