ทุกข์ซ้ำคนเหนือเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำท่วม ปลากระชังตายเกือบหมดเช่นปลาสังกะวาดจาก2 หมื่น เหลือ 300 สิ้นเดือนนี้จะขายได้อยู่แล้ว วอนหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
วันที่ 8 ต.ค.64 ที่กระชังปลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ 1 ต.ศิลาดาน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังได้รับความเดือดร้อน 20 ราย จำนวนกว่า 200 กระชัง เนื่องจากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับสูงขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน กระแสน้ำไหลเชี่ยวทำให้ปลาเริ่มทยอยตายอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปริมาณน้ำลดลงประมาณ 0.50 เมตร มีน้ำเน่าเสียไหลลงมาทำให้ปลาตายเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน พ่อค้าที่เคยรับซื้อประสบภัยโควิด-19 และน้ำท่วมจึงยังไม่มารับซื้อ ทั้งปลาทับทิม และปลาสังกะวาด
นายเอกสิทธิ์ หว่างพรม อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ต.ศิลาดาน เล่าว่า ปลาในกระชังเริ่มตายช่วงที่มีระดับน้ำขึ้นสูงประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ลักษณะปลาจะเป็นแผลเพราะกระแสน้ำแรง ตัวปลากระแทกตาข่ายกระชัง ปลาที่เลี้ยงไว้มีปลาสังกะวาด ปลาทับทิม และปลากด แต่ละวันเฉพาะปลาสังกะวาดตายประมาณ 30 กิโลกรัม มูลค่า 3,000 บาท (กก.ละ 100 บาท) ปลาที่ตายบางส่วนนำไปให้ปลากดกิน และที่เหลือต้องทิ้งไป ตอนนี้ปลาสังกะวาดจาก 20,000 ตัว คาดว่าเหลือประมาณ 300-400 ตัว มีกำหนดจับขายได้ประมาณสิ้นเดือนนี้ ถ้าคิดรวมความเสียหายทั้งปลาสังกะวาด และปลาทับทิม ประมาณกว่า 70,000 บาท อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ
ด้าน นายสนั่น ล้อมวงษ์ ประธานกลุ่มเลี้ยงปลากระชังบ้านท่าแขก กล่าวว่า ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ของ ต.ศิลาดาน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 20 ราย ประมาณ 200 กระชัง ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำที่ไหลเชี่ยว และขณะนี้น้ำเริ่มเน่าเสีย ทำให้ปลาในกระชังตายต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว รวมแล้วเสียหายเป็นจำนวนมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบให้ความช่วยเหลือ
สำหรับ สถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา วันนี้ (8 ต.ค.) ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ c.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านวัดได้อยู่ที่ 2,513 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 17 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 17.10 เมตร (รทก.) เท่ากับเมื่อวาน ระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 15.79 เมตร (รทก.) ลดลง 11 เซนติเมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 2,606 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลง 46 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที