วันนี้ (20 ก.ค. 64 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.อุทัยธานี นอกจากชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นกับคนแล้ว ในขณะนี้ยังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในพืชอีกด้วย โดยเกิดขึ้นในแปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร ทำให้เกิดโรคใบด่าง ส่งผลให้ผลผลิตเสียลดลงหรือเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ พบแพร่ระบาดแล้วใน 4 อำเภอ พื้นที่ระบาด 1,086 ไร่
ล่าสุดสำนักงานเกษตร จ.อุทัยธานี ได้นำเจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชน รวมทั้งเกษตรกร ร่วมกันทำลายแปลงปลูกมันสำปะหลังของนายบรรทม มาขำ อายุ 63 ปี เกษตรกรชาวหมู่ที่ 3 บ้านใหม่คลองไทร ต.เมืองการุ้ง อ.บ้านไร่ ที่เป็นโรคใบด่าง บนเนื้อที่ 16 ไร่ ในขณะที่แปลงปลูกมันสำปะหลัง มีอายุเพียง 45 วัน เท่านั้น จึงจำเป็นต้องทำลายทิ้งทั้งหมด เพื่อป้องกันแพร่ระบาดไปยังแปลงเกษตรกรคนอื่นๆ
ส่วนวิธีการทำลายจะใช้รถไถนา ทำการไถทิ้งทั้งแปลงที่พบการแพร่ระบาด จากนั้นจะใช้โรตารีสับต้นพันธุ์ให้ละเอียด ไถกลบลงไปในดินอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งยังใช้วิธีถอนต้นทิ้ง นำใส่ถุงพลาสติก นำไปตากแดดอีก 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคพืช
นายบรรทม กล่าวว่า ปลูกมันสำปะหลังติดต่อกันมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยซื้อท่อนพันธุ์มาจากเกษตรกรด้วยกันที่ อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี เป็นพันธุ์ 89 ในแต่ละปีจะให้ผลผลิตไร่ละ 4,000 กิโลกรัม พร้อมกับจะเก็บท่อนพันธุ์ไว้ปลูกเอง แต่ในปีนี้ต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบด่างเป็นปีแรก ทำให้ต้องตัดใจไถทำลายไถทิ้งทั้งหมด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปยังแปลงของเกษตรกรคนอื่นๆ อีกทั้งหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะไม่ได้ผลผลิต เนื่องจากผลผลิตจะเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องขาดทุน เนื่องจากต้องลงทุนไร่ละ 4,000 บาท ถ้าสภาพปกติไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างก็จะมีรายได้จากการจำหน่ายหัวมันสำปะหลังสด ปีละ 120,000 บาท โดยภาคราชการจะชดเชยการช่วยเหลือเป็นเงินสดให้ไร่ละ 2,160 บาท รวมทั้งท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ให้อีก 500 ลำต่อไร่ ก็พึงพอใจกับมาตรการการช่วยเหลือในครั้งนี้
ด้านน.ส.จุฑามาศ กลิ่นเกล้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ สำนักงานเกษตร จ.อุทัยธานี เปิดเผย ว่า ในฤดูการผลิตมันสำปะหลัง ปี 2564 จ.อุทัยธานี มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 380,000 ไร่ โดยปลูกใน 8 อำเภอ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นพืชทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย เป็นที่นิยมปลูกของเกษตรกร ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบด่าง เกิดขึ้นแล้วใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บ้านไร่ อ.ลานสัก อ.ห้วยคต และอ.ทัพทัน พื้นที่ 1,086 ไร่ จำนวน 102 แปลง ทำให้ต้องเร่งทำลายแปลงปลูกมันสำประหลังอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ให้ขยายวงกว้าง
ขณะนี้ได้เร่งทำลายไปแล้ว 894 ไร่ จำนวน 92 แปลง ส่วนวิธีการทำลายที่แนะนำ ก็คือ 1.การถอนทำลายใส่ถุงดำ นำไปตากแดด 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส 2.ใช้รถไถแล้วบดสับตากแดดทิ้งไว้ในแปลง และ3.ขุดหลุมฝังกลบ ให้ลึกไม่น้อยกว่า 3 เมตร ส่วนมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐ จะชดเชยเป็นเงินสดให้เกษตรกรไร่ละ 2,160 บาท และการสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคให้แก่เกษตรกร ไร่ละ 500 ต้น
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลผลิตปี 2563 ที่ผ่านมา จ.อุทัยธานี ก็ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบด่าง เช่นกัน เป็นพื้นที่ 1,000 ไร่ ส่วนสาเหตุของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ติดมาจากท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่าง ซึ่งเกษตรกรซื้อมาจากแหล่งที่มีการแพร่ระบาด พบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และเกิดจากแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นพาหนะนำโรค ด้วยการไปดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่เป็นโรคแล้วนำเชื้อไวรัสไปแพร่เชื้อต้นอื่นๆ ภายในแปลงปลูกอีกครั้งหนึ่ง พบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นแมลงปากดูด สามารถอพยพบินตามกระแสลม ไปได้ไกลหลายกิโลเมตร ส่วนลักษณะอาการของโรคใบด่างก็คือ ใบจะด่างเขียวซีดสลับเขียวเข้ม ด่างเหลืองสลับเขียว ใบหงิกใบย่อยบิดเบี้ยวหงิกงอ โค้งเสียรูปทรง ต้นแคระแกรน ไม่เจริญเติบโต ผลผลิตลดลง 80-100 เปอร์เซ็นต์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมมาด้วยว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบด่างของประเทศ ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังแล้ว ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเทริงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ระยอง ลพบุรี สุพรรณบุรี สุรินทร์ สระแก้ว สระบุรี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี จำนวน 187,508 ไร่