กฎกระทรวงใหม่เข้มที่เสี่ยงดินไหว – กระทรวงมหาดไทย – เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นาย ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลความเปลี่ยนแปลงของลักษณะพื้นที่ในเชิงกายภาพหลายพื้นที่ ตลอดจนได้มีการค้นพบพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมในหลายจังหวัด จึงได้ปรับปรุงแก้ไข กฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 เพื่อความทันสมัยและปลอดภัย แก่ประชาชน
ด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรม โยธาธิการและผังเมือง ได้ปรับปรุงกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินรองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว พ.ศ.2564
กฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 16 วันที่ 4 มี.ค.2564 มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนาม เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2564 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดพื้นที่ เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเป็น 3 บริเวณ คือ 1.พื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย
2.บริเวณที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับ ผล กระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และเสถียรภาพในระดับปานกลางเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี
และ 3.บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และเสถียรภาพในระดับสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์