เช้านี้ที่หมอชิต – อีก 1 เดือนกว่าฝนจะมาตามฤดูกาล ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ต้องวางแผนการใช้น้ำให้ดี เพื่อให้เพียงพอ ผ่านช่วงวิกฤตภัยแล้งไปให้ได้ ติดตามกับคุณธนพัต กิตติบดีสกุล
ศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ เปิดแผนที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง นอกเขตชลประทานทั่วประเทศ พบมี 489 ตำบล 176 อำเภอ ใน 45 จังหวัด เสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ซึ่งจากการประเมินความต้องการใช้น้ำมากที่สุด 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ใช้เพื่อการเกษตร รองลงมาเพื่อรักษาระบบนิเวศ อุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม
พื้นที่เฝ้าระวังหลัก ๆ อยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ รวมถึงภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และภาคอีสานบางส่วน เบื้องต้นหลายหน่วยงานเริ่มระดมให้การช่วยเหลือไปบ้างแล้ว และในบางพื้นที่มีแนวโน้มภัยแล้งเริ่มดีขึ้น จากสถานการณ์การเกิดพายุฤดูร้อน
ด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ประเมินภาพรวมทั้งประเทศ หลังเข้าช่วงแล้งมาแล้ว 3-4 เดือน ว่าปีนี้รอด ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่วิตก คือ ช่วงฝนหน้า ซึ่งอาจจะภาวะมีฝนทิ้งช่วงอยู่บ้าง น่าห่วงที่สุดคือลุ่มภาคกลาง จะหนักหน่อย หากไม่มีฝนหรือพายุเข้ามาช่วย
ขณะที่รายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. ปีนี้ พบว่าไม่มีรายงานประกาศพื้นที่ภัยแล้ง แม้ว่าหลายพื้นที่จะมีน้ำน้อย ซึ่ง ปภ. ประเมินว่าน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ยังไม่กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค
หากเข้าช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะดีกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งหมดถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะน้ำแล้งในปีนี้ และสิ่งสำคัญไม่ว่าจะน้ำแล้ง หรือน้ำท่วม คือ หลายชุมชนเกิดการปรับตัว เรียนรู้ ป้องกัน เพื่อรับมือให้รอดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และคาดเดาได้ยาก
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม…รอไม่ได้