พลัน “279 คน” เดินเกม “อุ้ม” วิทยานิพนธ์ล้มเจ้า “ไชยันต์” ตอก “เสรีภาพทางวิชาการ” ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ เย้ย แก้แค่ 1 คนก็จบ ไฉนต้อง 279 คน “เพจดัง” ตาไว พบผู้ร่วมแถลงการณ์ “ขาประจำ” จาก “1118” เพียบ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 มี.ค. 64) เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความตอบโต้กรณีมี 279 นักวิชาการและวิชาชีพอื่น ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ถึง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีขอให้ยุติการตั้งกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ ของ นายณัฐพล ใจจริง เพื่อธำรงเกียรติภูมิแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ โดยให้คำนึงถึงเสรีภาพทางวิชาการ โดยระบุว่า
“ภายใต้ “เสรีภาพทางวิชาการ”
ผู้ใช้เสรีภาพนั้น ได้รับเกียรติและได้รับการคุ้มครองอยู่มาก จึงย่อมต้องมีความรับผิดชอบมากตามมา อย่างปฏิเสธไม่ได้
เมื่อใช้เสรีภาพฯ นั้นแล้ว เกิดผิดพลาด เมื่อทราบและยอมรับข้อผิดพลาด ก็ควรรับผิดชอบ รีบแก้ไขเสีย
เพื่อปกป้องรักษา “เสรีภาพทางวิชาการ” ให้เป็นที่เคารพและยอมรับของวงการวิชาการและสาธารณะต่อไป
มิฉะนั้นแล้ว เสรีภาพทางวิชาการจะไม่เป็นที่เคารพและเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการต่อๆไป
“แค่ 1 คนแก้ไขให้ถูกต้อง..ก็จบ ไฉนจึงต้องใช้ตั้ง 279 คน” จาก มิตรสหายอีกท่านหนึ่ง”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้โพสต์เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกดังกล่าว เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของ นายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”
เนื้อหาระบุว่า “เมื่อขอมา ก็จัดให้ ไล่กันไปทีละจุด
ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของณัฐพล ใจจริง ที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2552 และเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการประเมินผลในระดับดีมาก
ในหน้า 63 ของวิทยานิพนธ์ ณัฐพล เขียนว่า
“แต่การรัฐประหารครั้งนี้ (พ.ศ. 2490/ผู้เขียน) ไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมขุนชัยนาทเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ และทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”
ณัฐพล รู้ได้อย่างไรว่า กรมขุนชัยนาทเรนทร ทรงมีบทบาทในการรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน ?
ณัฐพล อ้างว่า เขาได้ข้อมูลจากหน้า 210 ในหนังสือของ Edwin Stanton ชื่อ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ที่ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2500
ทีนี้ เมื่อไปดูตัวเอกสารอ้างอิงของ Stanton หน้า 210 ที่ณัฐพลใช้อ้างในการเขียนให้คนอ่านเข้าใจว่า “กรมพระยาชัยนาทเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”
พบว่า ในหนังสือ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ของ Stanton หน้า 210 มีข้อความดังนี้
“Later the Prince told me it seemed to be the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. ‘As you know,’ he told me, ‘bloodshed is abhorrent to us as Buddhists.’ ”
ข้อความดังกล่าวแปลเป็นไทยได้ว่า
“ภายหลัง the Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูจะเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่จะยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่รู้’ พระองค์กล่าวแก่ข้าพเจ้า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ”
จากข้อความของ Stanton คำถามคือ มีข้อความหรือคำอะไรที่สื่อได้ว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีบทบาทในการรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน?
เพราะจากข้อความของ Stanton กล่าวได้แต่เพียงว่า พระองค์ทรงยอมรับรัฐประหารที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ได้ด้วยเหตุผลที่ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่มีการเสียเลือดเนื้อ
และในหน้าเดียวกันนั้นคือหน้า 63 ของวิทยานิพนธ์ ณัฐพล ยังเขียนต่อไปอีกว่า
“ขณะนั้น กรมพระยาชัยนาทเรนทร ทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว”
และข้อมูลที่ณัฐพลใช้ในการเขียนให้คนอ่านเข้าใจว่า “กรมพระยาชัยนาทเรนทร ทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” คือ หน้า 100 ของหนังสือของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพลเอง
หนังสือของ สุธาชัย เล่มนี้ชื่อ แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500) ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2550 และถ้าเปิดไปที่หน้า 100 ของหนังสือ แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500) จะพบข้อความดังนี้
“อนึ่ง ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ บุตรเขยของ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง ก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จในการรัฐประหารสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นตัวกลางนำ น.อ.กาจ และ พล ท.ถนอม กิตติขจร ไปพบกับ กรมขุนชัยนาทเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่วังถนนวิทยุในเวลา 1.00 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพื่อขอให้ลงนามรัฐธรรมนูญชั่วคราว จากนั้นต่อมา ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ก็ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ให้เป็นตัวแทนเดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ด้วย”
จากข้อความข้างต้น มีอะไรที่สื่อได้ว่า กรมพระยาชัยนาทเรนทร ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว?
ต่อมา ณัฐพล ใจจริง และ ธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อ้างว่า ได้มีการทำการแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำวิทยานิพนธ์ที่แก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์นี้มาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี”
ในหน้า 60 ของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ณัฐพลและฟ้าเดียวกันได้ตัดข้อความที่กล่าวว่า “กรมพระยาชัยนาทเรนทรทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” ที่เคยปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ออกไป
แต่ยังคงข้อความว่า “รัฐประหารครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”
และยังคงอ้างข้อมูลหน้า 210 ของหนังสือ Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Common World ของ Stanton อยู่
ซึ่งอย่างที่ชี้ให้เห็นไปแล้วว่า ในหน้า 210 ของหนังสือดังกล่าว ไม่มีข้อความใดเลยที่จะสื่อว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ มีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน
ขอเชิญติดตาม จุด ต่อไป … เรื่อยๆ …”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ข้อความรบุว่า
“จาก 1118 เหลือ 279 ละ
ลองกวาดสายตา เจอคนคุ้นเคยเพียบเลย
เกษียร เตชะพีระ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาตรี ประกิตนนทการ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
ประภาส ปิ่นตบแต่ง (ทุนโซรอส)
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (ทุนโซรอส)
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ (พี่สาวจอน)
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อนุสรณ์ อุณโณ (หมอปลาตาปรือ)
ชลิตา บัณฑุวงศ์ (ล้ม มาตรา 1)
ทัศนัย เศรษฐเสรี (พี่ทัศ)
ประจักษ์ ก้องกีรติ (ทุนโซรอส)
ลลิตา หาญวงษ์ (101)
อรรถพล อนันตวรสกุล (101)
เคท ครั้งพิบูลย์ (ลุงเคท)
กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
ชานันท์ ยอดหงษ์ (101)
ปิยนุช โคตรสาร Amnesty International Thailand
สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียน ศิลปินแห่งชาติ
สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส Human Rights Watch
#เราเก็บรายชื่อไว้ทำบิ๊กดาต้าทุกคนแหล่ะ
https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/posts/1907681589395204
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 จากกรณีที่ ก่อนหน้านี้ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงวิทยานิพนธ์ ของ ณัฐพล ใจจริง ระบุว่า
“เพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของณัฐพล ใจจริง
เนื่องจากเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาการและนักวิชาการระดับดุษฎีบัณฑิต จึงทำให้ต้องมีเนื้อหาที่ยาวมาก แต่ถ้าใครขี้เกียจอ่านยาวๆ ผมจะสรุปให้ภายใน 9 บรรทัดในย่อหน้าแรก ดังนี้
ผศ.ณัฐพล ใจจริง กระทำผิดทางวิชาการขั้นร้ายแรง โดยการแก้ไขข้อมูล หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง (falsification) ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เพราะฉะนั้นจุฬาฯ จะต้องเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของเขาตามระเบียบ
และเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับผู้ที่จะอาศัยความเป็นวิชาการที่สร้างความน่าเชื่อถือกับผู้คน ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นความผิดขั้นร้ายแรง สูงสุด”
วันที่ 5 ม.ค. นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์หัวข้อ “ทำไมธีสิสของณัฐพล ถึงจงใจให้กรมพระยาชัยนาทฯ สวมบทเป็นผู้ร้าย” ในที่นี้ ขอยกเอาเฉพาะสาระสำคัญ มานำเสนอ ดังนี้
“ทำไมธีสิสของณัฐพล ถึงจงใจให้กรมพระยาชัยนาทฯ สวมบทเป็นผู้ร้าย”
หรือคำตอบคือ กรมพระยาชัยนาทฯ เป็นลูกเลี้ยงของย่าของในหลวง ร.๙ ซึ่งทรงรักและเลี้ยงมาเหมือนลูกแท้ๆ และถูกเลี้ยงดูให้เติบโตมาพร้อมกับเจ้าฟ้ามหิดล พ่อของในหลวง ร.๙
หรือเขาจงใจให้ร้ายในหลวง ว่าทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าแทรกแซงการเมือง
ตามกลยุทธ์ล้มเจ้า เพื่อหาเหตุล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…(ติดตามประวัติความเป็นมาได้จากเพจเฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค)
ที่สำคัญเช่นกัน นายอัษฎางค์ ยมนาค ยังอ้างถึงโพสต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ตอนหนึ่งว่า
“สมควรที่คุณหญิงปรียนันทนา รังสิต และพระทายาทในราชสกุลรังสิต จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ณัฐพล ใจจริง ให้ถึงที่สุด
ไม่ใช่เพื่อปกป้องบรรพบุรุษของราชสกุลรังสิตแต่อย่างเดียว
แต่ต้องทำเพื่อปกป้องพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรด้วย…”
แน่นอน, ประเด็นอยู่ที่ วิทยานิพนธ์ที่ผิดพลาด หรือ “จงใจ” ใส่ร้ายป้ายสี “เจ้า” หรือไม่ อยู่ที่ใครอยู่ฝ่ายไหนจะตัดสิน ทว่าเหนืออื่นใด ความผิดพลาดดังกล่าว กลับไปเข้าทางกลุ่มคน “ล้มเจ้า” แบบชนิดอ้างเชื่อขนมกินได้เลย นี่สิ คือ ปัญหา เพราะอย่าลืม วิทยานิพนธ์เล่มนี้ ถูกเครือข่ายและสาวก “ล้มเจ้า” นำไปขยายผลอ้างอิงเป็นว่าเล่น รวมทั้งที่กลายเป็นความเชื่อฝังหัวคนรุ่นใหม่ที่รับสื่อโซเชียลมีเดียอยู่ด้วย ใครจะรับผิดชอบ?
ปล่อยเลยไปอย่างที่ 279 คน เรียกร้องอย่างนั้นหรือ ง่ายอย่างนั้นเลยหรือ???