รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขไทย และรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเกรตบริเตนและนอร์เทิร์นไอร์แลนด์ ลงนามบันทึกความร่วมมือแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ 3 ด้าน ได้แก่ การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร
วันนี้ (24 มีนาคม 2564) ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย Mr. Brian Davidson เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเกรตบริเตนและนอร์เทิร์นไอร์แลนด์ ภายใต้ความร่วมมือแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ ของ UK’s Prosperity Fund ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างสหราชอาณาจักรกับต่างประเทศ (ค.ศ. 2016 – 2021)
นายอนุทิน กล่าวว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ร่วมมือกับสหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสนับสนุนผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ และส่งเสริมการเป็นพันธมิตรที่ยั่งยืนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ เน้นความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่ การจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลก, การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ และการศึกษาและฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) โดยปี 2564 นี้ จะเน้นการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับประเทศ อาทิ การจัดทำร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการดูแลและให้บริการด้านโรคไม่ติดต่อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การปรับปรุงหลักสูตรจีโนมิกส์ เป็นต้น
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตามบันทึกข้อตกลงในด้านการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีกรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลัก โดยทบทวนแผนการปฏิบัติที่ดีในการรณรงค์ลดการบริโภคเกลือ/โซเดียม และจัดประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการ เพื่อพิจารณาผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ต่อการจัดการและการให้บริการผู้ป่วย เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ มีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นหน่วยงานหลัก โดยทบทวนรูปแบบการรับรองมาตรฐานการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและต่างประเทศ รูปแบบระบบการรายงานและเรียนรู้อุบัติการณ์ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของประเทศ (National Reporting and Learning System: NRLS) และการปฏิบัติที่ดี
ส่วนด้านสาขาการศึกษาและการฝึกอบรม มีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบัน Asia-Pacific Network on Health Professional Education Reforms (ANHER) ร่วมกันดำเนินงาน โดยทบทวนรูปแบบการพัฒนาวิชาชีพของไทยและสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย สนับสนุนวารสารอิเล็กทรอนิกส์ “Health Workforce Education” ทบทวนและให้ข้อเสนอแนะสำหรับแผนปฏิบัติการแบบบูรณาด้านจีโนมิกส์ของประเทศไทย (Genomics Thailand’s Integrated Action Plan)
***************************************** 24 มีนาคม 2564