แม้สังเวียนแข้งในไทยลีก 2 ยังไม่ปิดฤดูกาล แต่เป็นที่แน่นอนแล้วว่า “หนองบัวพิชญ เอฟซี” คือ 1 ใน 3 ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยลีก 1 ในฤดูกาลหน้า
สถานการณ์ล่าสุดของทีม “พญาไก่ชน” จ่าฝูงเวลานี้ สิ้นสุดเสาร์ที่ 20 มีนาคม แข่งไปแล้ว 31 นัด มีอยู่ 69 แต้ม มากกว่าทีมอันดับ 3 นครปฐม ยูไนเต็ด ถึง 15 คะแนน ดังนั้นแม้ “หนองบัว พิชญ เอฟซี” จะแพ้ 3 นัดที่เหลือ แต่คะแนนก็ยังมากพอที่จะติด 1 ใน 2 เพื่อขึ้นสู่ไทยลีก 1 โดยไม่ต้องไปเพลย์ออฟ ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของสโมสร ในรอบ 10 ปี
กว่าจะถึงวันนี้ “หนองบัว พิชญ เอฟซี” สโมสรเล็กในจังหวัดที่หลายคนยังไม่เคยรู้จักและคิดไปเยือน กลายเป็นสังเวียนเมืองฟุตบอลสโมสรที่ยิ่งใหญ่ครบครันที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
ช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษของการเดินทางที่เริ่มจาก ศูนย์ จนถึงวันนี้ในฐานะทีมน้องใหม่ “ไทยลีก” ล้วนน่าติดตาม
เปิดฉากในปี พ.ศ. 2553 ภายใต้การบริหารของนายกสมาคมฟุตบอลยุคของ “วรวีร์ มะกูดี” ในการสนับสนุนทีมระดับภูธร โดยความร่วมมือของการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการสร้างลีกอาชีพ “ดิวิชั่น 2” เพื่อหาทีมเลื่อนชั้นสู่ ดิวิชั่น 1 และไทยพรีเมียร์ลีก ตามลำดับ
“หนองบัวลำภู” จังหวัดเล็กๆ ในภาคอีสาน แยกมาจาก จ.อุดรธานี เกิดขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2536 พร้อมกับ อำนาจเจริญ และ สระแก้ว มีประชากรเพียงไม่กี่แสนคน
แต่ด้วยความรักในฟุตบอลและแรงผลักดันของคนลูกหนังทำให้ “วัชระ ลีประเสริฐกุล” นายกเทศมนตรีเมืองหนองบัวลำภู ในฐานะประธานสมาคมกีฬาจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรคนแรก พร้อมดึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องงบประมาณ และให้ “สุทิน ศรีทอง” เป็นผู้ฝึกสอน
ในที่สุดจึงลงตัวส่งชื่อทำการแข่งขันในลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในชื่อ “กฟผ.หนองบัวลำภู ยูไนเต็ด” พร้อมฉายา “สายฟ้าภูพานคำ”
เปิดตัวสุดปังในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ในเกมดิวิชั่น 2 ด้วยการไปเยือนทีมยักษ์ “อุดรธานี เอฟซี” ที่สนามสถาบันการพลศึกษาอุดรธานี จบด้วยชัยชนะของทีมเยือน 0-1 ชนิดที่แฟนบอล “ยักษ์แสด” รับไม่ได้ จนกลายเป็นศึกใหญ่แห่งศักดิ์ศรีของสองทีมจนถึงปัจจุบัน
แม้นัดเปิดสนามด้วยการล้มยักษ์ แต่ในเดือนเดียวกันในเกมไปเยือน สุรินทร์ โดนถล่มไป 6-0 เป็นการแพ้-ชนะมากที่สุดในปีนั้น
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลแรก “กฟผ.หนองบัวลำภู ยูไนเต็ด” ผลงานถือว่าไม่ขี้เหร่ด้วยการจบในอันดับ 10 จากจำนวน 16 ทีม โดยมี “ผีตาโขน” เลย ซิตี้ เป็นแชมป์ และ “บุรีรัมย์ เอฟซี” เป็นรองแชมป์ในปีนั้น
เริ่มต้นสวย แต่กลับล้มเหลวในฤดูกาลต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนทีมบริหาร ในฤดูกาล 2554 จาก “กฟผ.หนองบัวลำภู ยูไนเต็ด” เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “หนองบัวลำภู เอฟซี” พร้อมใช้ฉายาใหม่ว่า “ปลาไหลไฟฟ้า” สุดท้ายในปีนั้นผลงานดำดิ่งอันดับจมอยู่ที่ท้ายตาราง
หลังจากอยู่ในจุดต่ำสุด กระทั่งในฤดูกาล 2557 มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารภายใต้การนำของ “สุเทพ ภู่มงคลสุริยะ” ผู้บริหารวิทยาลัยพิชญบัณฑิต จ.หนองบัวลำภู ก้าวมานั่งประธานสโมสรคนใหม่
ผลงานในปีแรก เหมือนเป็นการเรียนรู้งานจากผู้บริหารสถานศึกษามาทำทีมฟุตบอล ในที่สุด “หนองบัวลำภู เอฟซี” จบที่อันดับ 12 จากจำนวน 14 ทีมที่เข้าร่วม
ถัดมาในฤดูกาล 2558 “หนองบัวลำภู เอฟซี” มีการพัฒนาอีกครั้งด้วยการเปลี่ยนโลโก้ และชื่อสโมสรเป็น “หนองบัว พิชญ เอฟซี” และใช้ฉายา “ไก่ชนพระนเรศวร” พร้อมแต่งตั้ง “ธีระเวคิน สีหะวงค์” เข้ามารับตำแหน่งกุนซือของทีม
ผลงานของ “หนองบัว พิชญ เอฟซี” เริ่มยกระดับขึ้น กลายเป็นทีมที่แพ้ยาก และจบลงด้วยกันดับ 8 จากจำนวน 18 ทีมในฤดูกาลนั้น
กระทั่งในฤดูกาล 2559 “หนองบัว พิชญ เอฟซี” เปลี่ยนอีกครั้งโดยใช้ฉายา “พญาไก่ชน” พร้อมเสริมกำลังเพื่อยกระดับทีมและมีเป้าหมายชัดเจน และแข้ง “พญาไก่ชน” คว้าแชมป์โซนอิสาน พร้อมเข้าสู่รอบแชมเปี้ยนส์ลีก
ในรอบแชมเปี้ยนส์ลีก “หนองบัว พิชญ เอฟซี” ปราบทั้ง อยุธยา เอฟซี รวมถึงคู่ปรับอย่าง อุดรธานี เอฟซี ก้าวขึ้นสู่ ไทยลีก 2 สำเร็จในฤดูกาล 2560 พร้อมกับ ตราด เอฟซี และ ม.เกษตรศาสตร์
ฤดูกาลแรกในการขึ้นสู่บรรยากาศของ ไทยลีก 2 “หนองบัว พิชญ เอฟซี” ยังใช้บริการของกุนซือคู่บารมี “โค้ชกล่ำ-ธีระเวคิน สีหะวงค์” และกัปตันทีม “อุทัย ผิวเงิน” ใช้สนามกีฬากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นรังเหย้า สร้างผลงานได้อย่างประทับใจเรียกแฟนบอลเข้าสนามแทบจะเต็มความจุ 4,000 ที่นั่งทุกนัด
ผลงานของทีมก็ถือว่าไม่ธรรมดา จบลงในอันดับ 8 จากการลงสนาม 32 นัด ชนะ 10 เสมอ 11 และแพ้ 11 นัด โดยแชมป์เป็น ชัยนาท ฮอร์นบิล
จากผลงานของทีมและทิศทางของแฟนฟุตบอล รวมถึงนโยบายการสร้างทีมแบบยั่งยืน “หนองบัว พิชญ เอฟซี” จึงผุดนโยบายสร้างสนามฟุตบอล พร้อมวางงบประมาณเบื้องต้น 50 ล้านบาท และเริ่มมีการปรับพื้นที่ในบริเวณวิทยาลัยพิชญ โดยมีลักษณะตัวสนาม “พิชญ สเตเดี้ยม” คล้ายกับ มิตรผล สเตเดี้ยม ของ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี สามารถจุแฟนบอลได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ที่นั่ง
มาถึงฤดูกาล 2561 เกมการแข่งขันที่ควบคู่ไปกับการสร้างสนามใหม่ “หนองบัวพิชญ เอฟซี” ใกล้เคียงการกับเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด เมื่อจบฤดูกาลอันดับ 5 เก็บได้ 45 แต้มจากการลงสนาม 28 นัด พลาดตำแหน่งเลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 1 ไปเพียง 5 คะแนน โดยแชมป์ตกเป็นของ “พีทีที ระยอง”
ในฤดูกาล 2562 เป้าหมายยังคงสร้างทีมเพื่อมุ่งสู่ลีกสูงสุด และหวังยกระดับทีมโดยการเปลี่ยนโค้ชมาใช้บริการของ “แมตต์ ฮอลแลนด์” กุนซือชาวอังกฤษ แต่ผลงานไม่เป็นไปตามหวัง เมื่อจบเพียงอันดับ 8 ส่วนแชมป์เป็น “บีจี ปทุม ยูไนเต็ด”
มาในฤดูกาล 2563 “หนองบัว พิชญ เอฟซี” ปรับใหม่อีกหนด้วยการดึงกุนซือมากประสบการณ์ “น้าฉ่วย” สมชาย ชวยบุญชุม มาคุมทัพพร้อมเสริมนักเตะมีระดับ สร้างผลงานดีอย่างต่อเนื่อง เป็นทีมเดียวที่ไม่แพ้ใคร จนนำเดี่ยวมายาวนาน
การเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติในอันดับ 1 และ 2 หลังผ่านเกมที่ 31 เหลืออีก 3 นัดสุดท้าย เพียงไม่แพ้ก็จะถือว่าเป็นปีที่ไร้พ่าย ส่วนแชมป์ ต้องบดบี้อยู่กับ “ช้างเผือก” เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ที่มาแรงในช่วงท้าย
ย้อนกลับไปในการสร้างสนาม นอกเหนือจากความสำเร็จในการสร้างทีม ที่เริ่มต้นอย่างสุดหรูด้วยผลงาน “น้าฉ่วย” สอดรับกับการสร้างสนามฟุตบอล “พิชญ สเตเดี้ยม” ที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างควบคู่ไปอย่างต่อเนื่อง
นับจากวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ประวัติศาสตร์ของสนามเริ่มขึ้น เมื่อผู้บริหาร พร้อมด้วยนักเตะและแฟนบอลทีม “หนองบัวพิชญ เอฟซี” ร่วมกันปลูกหญ้าในสนามแข่งขันแห่งใหม่
ในที่สุดวันที่ 18 กันยายน 2563 สนามพิชญ สเตเดี้ยม ซึ่งเป็นฟุตบอลสเตเดี้ยมเอกชนแห่งแรกในอีสานตอนบนขนาดความจุ 6,800 ที่นั่ง ก่อสร้างเสร็จสิ้นพร้อมเปิดใช้งาน
วันที่ 24 กันยายน 2563 ตัวแทนจากไทยลีก เข้าตรวจเยี่ยมสนามพิชญ สเตเดี้ยม เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยและเป็นไปตามมาตรฐานการแข่งขันฟุตบอล ไทยลีก 1 และ ไทยลีก 2
ผลปรากฏว่าทุกอย่างผ่านตามกฏระเบียบและพร้อมใช้สำหรับลีกฟุตบอลอาชีพของประเทศ
และถึงวันที่แฟนฟุตบอลรอคอย 25 ตุลาคม “หนองบัว พิชญ เอฟซี” ย้ายออกจากสนามกีฬากลางจังหวัดหนองบยัวลำภู เปิดรังเหย้าแห่งใหม่ “พิชญ สเตเดี้ยม” ด้วยการเอาชนะ ชัยนาท ฮอร์นบิล 1-0
ถึงวันนี้ ยังไม่มีทีมใดที่สามารถเก็บ 3 แต้มออกจากสนามแห่งนี้ได้
การแข่งขันยังไม่สิ้นสุด ฤดูกาลยังไม่ปิด แต่สถานการณ์ของทีม “หนองบัว พิชญ เอฟซี” ถือว่าถึงเป้าหมายโดยสมบูรณ์ด้วยการขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศ
ถือเป็น ทศวรรษ แห่งความสำเร็จที่ก้าวเดินอย่างมั่นคงมีระบบ 10 ปี ที่มีเป้าหมายมากเหนือกว่าคำว่าสโมสรฟุตบอล แต่คือ “ครอบครัว”
ความสำเร็จถือเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาจากสโมสรในจังหวัดขนาดเล็ก ประชากรแค่หลักแสนและจัดอยู่ในจังหวัดที่กลุ่มประชากรมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศไทย
แต่จากนี้ไปไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “หนองบัวพิชญ เอฟซี”