อุบัติเหตุจราจรในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่ก่อความสูญเสีย เสียชีวิตและพิการ มีผู้บาดเจ็บเป็นภาระการรักษาพยาบาลไม่ใช่น้อย ศูนย์ความปลอดภัยทางถนนได้ประมวลสถิติรายจังหวัดในช่วง 2553-2563 ซึ่งนับเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง (หรือต่ำ) ด้านอุบัติเหตุจราจร และประมวลข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
สถิติอุบัติเหตุจราจรเป็นหนึ่งในบันทึกข้อมูลขนาดใหญ่ที่หน่วยงานรัฐจัดทำ คือการบันทึกเหตุการณ์ (อุบัติเหตุทุกราย) ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการและการเสียชีวิต โดยมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องคือตำรวจ สถานพยาบาล บริษัทประกัน สาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ จึงมีการสอบทานตัวเลขจริงจัง ความน่าเชื่อถือสูง นำมาประมวลเป็นรายจังหวัดเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ตามสภาพเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจังหวัด โดยสันนิษฐานว่าแต่ละจังหวัดมีโครงสร้างการผลิตแตกต่างกันบ้างอิงฐานการเกษตร ฐานอุตสาหกรรมและฐานการบริการ การขนส่งคมนาคม-การท่องเที่ยว-การขนส่งสินค้าการเกษตรหรืออุตสาหกรรมเป็นกิจกรรมที่ใช้รถใช้ถนน จึงมีความเสี่ยงของอุบัติเหตุ สภาพเงื่อนไขถนน-การใช้ความเร็วของยานพาหนะก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ
รูปกราฟที่ 1 แสดงจำนวนอุบัติเหตุจราจร (ราย) และจำนวนผู้บาดเจ็บ (คน) ซึ่งชัดเจนว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553-2562 ยกเว้นปี 2563 สถิติลดลงเพราะโรคไวรัสระบาด กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมากทั้งเป็นเพราะคำสั่งรัฐบาลและโดยสมัครใจคำนวณเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 6.7% ต่อปี สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นทางเศรษฐกิจจังหวัด (วัดด้วย GPP)
นักวิจัยสร้างแบบจำลองที่ใช้ข้อมูลด้านอุบัติเหตุและร่วมกับข้อมูลเศรษฐกิจจังหวัด โดยสันนิษฐานว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ วัดความสัมพันธ์และคำนวณหาความยืดหยุ่น แกนตั้งใน รูปภาพที่ 2 แสดงจำนวนอุบัติเหตุ และจำนวนผู้บาดเจ็บ แกนนอนหมายถึง ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อประชากรใช้สถิติปี 2562 (การที่ไม่เลือกใช้ปี 2563 เพราะว่าเป็นปีที่ผิดปกติ ปี 2562 น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีกว่า) เพื่อเปรียบเทียบข้ามจังหวัดเพื่อสังเกตว่า จังหวัดที่มีความเสี่ยงอุบัติเหตุสูงได้แก่จังหวัดใด? ข้อสังเกตคือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สมุทรปราการ ชลบุรี นครราชสีมา จำนวนอุบัติเหตุสูง ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปรในทางบวกดังคาดหมายคือ 0.43
โดยที่เศรษฐกิจจังหวัดมีขนาดแตกต่างกันมาก (ทั้งจำนวนประชากร พื้นที่ ความยาวถนน และมูลค่า GPP) นักวิจัยจึงสร้างตัวแปรใหม่ คือ จำนวนอุบัติเหตุ (ครั้ง) ต่อประชากรพันคน นำมาจัดเรียงลำดับ (ranking ในสถิติในปี 2562) สถิติจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย ดังแสดงใน รูปภาพที่ 3 สรุปได้ว่า 20 จังหวัดที่มีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต สมุทรปราการ เชียงใหม่ สมุทรสาคร ลำพูน
มีสาเหตุหรือปัจจัยใดทำให้อุบัติเหตุสูงในจังหวัดเหล่านี้? ได้ข้อคิดเห็นในเบื้องต้นว่า ก) จังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวหมายถึงมีผู้คนนอกถิ่นรวมทั้งชาวต่างประเทศเข้ามาใช้รถใช้ถนน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุ เช่น กรุงเทพฯภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น ข) จังหวัดที่เป็นทางผ่านการขนส่งสินค้าและผู้คน เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชัยนาท เป็นต้น ค) จังหวัดที่มีแรงงานและคนต่างถิ่นพำนักเนื่องจากเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรรม เช่น ลำพูน สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ จ) สถิติประชากรของจังหวัดอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงในหลายจังหวัดเนื่องจาก “ประชากรแฝง” เช่น ภูเก็ต เมื่อคำนวณเป็นตัวเลขสัดส่วน–จึงสูงมากหรือดูกว่าเกณฑ์ปกติ
ในงานวิจัยเล็กๆ ที่คณะจะดำเนินการต่อไปจะเกี่ยวข้องกับมิติเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงนโยบาย โดยสันนิษฐานว่า มาตรการแทรกแซงของจังหวัด (และรัฐบาล) สามารถลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจราจร โดยสร้างแบบจำลองเพื่อวัดว่า กลุ่มจังหวัดใดที่เสี่ยงเกินกว่าค่าพยากรณ์ และกลุ่มใดที่เสี่ยงต่ำกว่าค่าพยากรณ์ การลงพื้นที่ในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ นัดสัมภาษณ์หน่วยงานหรือผู้ชำนาญการในจังหวัดนั้นๆ เพื่อขอข้อมูล ความรู้และรับข้อสังเกตจากคนที่ทำงานในสถานการณ์จริง จะช่วยให้เพิ่มความลึกซึ้งและตอบข้อสงสัยของนักวิจัย ซึ่งจะนำมาสื่อสารสาธารณะในโอกาสต่อไป
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
พิชิต รัชตพิบุลภพ
เมรดี อินอ่อน