- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
2 ปีหลังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ “ดีเด่น” ระดับปริญญาเอกของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง ซึ่งถูกนำไปดัดแปลงตีพิมพ์เป็นหนังสือยอดนิยมในหมู่ผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์ ล่าสุดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว ขณะที่เจ้าของงานคาดหวังว่าคณะกรรมการจะรับฟังข้อเท็จจริงและพิจารณาภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยจิตใจที่ปลอดอคติและยุติธรรม
การลุกขึ้นมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของจุฬาฯ เกิดขึ้นหลังจาก ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจพบ “การอ้างอิงคลาดเคลื่อน” รวม 31 จุดในวิทยานิพนธ์เล่มนี้
ผศ.ดร. เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดีด้านสื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า อธิการบดีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมี “ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง” เข้าร่วม ให้พิจารณาและนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยโดยเร็ว พร้อมยืนยันว่าจุฬาฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีผู้ส่งเอกสารร้องเรียนเข้ามาหลายทาง จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย ก่อนที่สภามหาวิทยาลัยจะมีมติให้ฝ่ายบริหารไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในที่สุด
อย่างไรก็ตามผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ ไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ ทั้ง รายชื่อคณะกรรมการ หลังมีรายงานข่าวว่าได้ทาบทาม ศ.ด้านกฎหมายมหาชน เป็นประธาน รวมถึงจำนวนคณะกรรมการ, ประเด็นในการพิจารณา, กรอบเวลาในการทำหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่าเป็น “คำสั่งลับ” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยต้องการให้คณะกรรมการหน้าที่ได้อย่างอิสระ และปราศจากแรงกดดันใด ๆ แต่เมื่อกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว ทางจุฬาฯ พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
“กรอบถูกเปิดกว้าง เพื่อให้คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจดำเนินการของทางมหาวิทยาลัยต่อไป เพราะทุกวันนี้แต่ละคนพูดไม่เหมือนกันเลย บางทีก็มีประเด็นที่จับนั่นจับนี่มาผสมโรง จับการเมืองมาผสมโรง ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิชาการบริสุทธิ์… ทุกสิ่งที่ทำ เป็นประเด็นที่เราต้องการทำให้เกิดความถูกต้อง บริสุทธิ์ และเป็นธรรมทางวิชาการ” ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ ระบุ
ส่วนท่าทีนิ่ง-เงียบของมหาวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมา สัมพันธ์กับการปรากฏชื่อของอาจารย์ผู้ใหญ่ร่วมเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์เล่มนี้หรือไม่นั้น ผศ.ดร. เอกก์ยืนยันหลักการว่าไม่มีใครเป็นผู้ใหญ่ใครเป็นเด็ก สุดท้ายอยู่ที่ความถูกต้องและเป็นธรรมในทางวิชาการ
จากบรรทัดนี้คือลำดับเหตุการณ์ ข้อค้นพบ ข้อกล่าวหา และข้อโต้แย้งระหว่างปัญญาชนต่างความคิดที่เกิดขึ้นข้ามปี
สมบัติ จันทรวงศ์ คนแรกที่สะดุดตาปมผู้สำเร็จราชการฯ
จากจุดเริ่มต้นในการทำวิจัยเรื่อง “การเมืองในรัชสมัย ร. 9” เพื่อบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 70 ปีแห่งการครองราชย์ ทำให้ไชยันต์กับคณะต้องสำรวจวรรณกรรมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ห้อง 102 อาคาร 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกใช้เป็นประชุม-อ่านหนังสือของ 3 นักวิจัย ประกอบด้วย ศ.ดร. ไชยันต์, ศ.ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ และ รศ.ดร. ศุภมิตร ปิติพัฒน์ รวมถึงผู้ช่วยวิจัย
ในระหว่างนั่งอ่านหนังสือด้วยกัน ศาสตราจารย์ผู้มีอาวุโสสูงสุดด้วยวัย 70 ปีเศษ ต้องสะดุดตา-สะดุดใจกับข้อความ 6 บรรทัดที่ปรากฏในหน้า 124 ของหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” เขียนโดย ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2556)
ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “ผู้สำเร็จราชการฯ ได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์…”
“อาจารย์สมบัติเป็นคนปิ๊ง ท่านก็สงสัย มันไม่น่า ในฐานะที่ท่านอายุเยอะ ท่านไม่เคยได้ยิน พอไม่เคยได้ยิน ผมก็เลยมีหน้าที่ต้องรับไปสืบค้น” ไชยันต์ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัยเล่า
ปฏิบัติการพิสูจน์ความจริง-สืบสาวความผิดพลาด
ปฏิบัติการพิสูจน์ความจริงผ่าน “เชิงอรรถที่ 42” จึงเกิดขึ้น โดยผู้เขียนระบุแหล่งอ้างอิงไว้ 2 แหล่งคือ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2493 และเอกสารจากหอจดหมายเหตุของสหรัฐฯ (NARA ) ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2493
ไชยันต์ไหว้วานคนรู้จักช่วยสืบค้นข่าวเก่าจากคลังข้อมูลของเครือบางกอกโพสต์
ส่วนศุภมิตร ให้ศิษย์เก่าที่ย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่อเมริกาไปหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยจ่ายค่ารถและค่าเสียเวลาให้
“ถ้าเราไม่ต้องทำวิจัยเรื่องในหลวง คงไม่สนใจไปตามหาฟุตโน้ตถึงอเมริกาหรอก… เราต้องเขียนตรงนี้ ต้องทำวิจัย เลยบีบให้เราเดือดร้อนไปหา” ไชยันต์บอก
ทีมไชยันต์พบว่า ทั้ง 2 แหล่งอ้างอิงมีข้อความตรงกัน คือระบุว่าผู้สำเร็จราชการฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา สร้างความไม่พอใจให้แก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และพูดต่อไปว่าจอมพล ป. เลยอยากเข้าไปประชุมองคมนตรี ซึ่งขณะนั้นองคมนตรีกับผู้สำเร็จราชการฯ เป็นคณะเดียวกัน
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีข้อความที่เขาใส่เข้าไปเองว่าผู้สำเร็จฯ ไปประชุมในคณะรัฐมนตรี อันนี้มันใส่เข้าไปเอง มันไม่น่าจะแปลผิด เพราะเขาแปลข้อความที่อยู่ในนั้นแล้ว เลยคิดว่าไม่น่าใช่แปลผิด แต่จะเป็นอะไร เราไม่ทราบ” ไชยันต์ชี้ปัญหา
ปฏิบัติการสืบสาวความผิดพลาดตามมา เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก “ดีเด่น” ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และปรากฏข้อความเดียวกันในหน้า 105 ของวิทยานิพนธ์ (ดูลำดับเหตุการณ์ข้างล่าง) ทำให้ไชยันต์มองว่าเป็น “ปัญหาใหญ่” ในทางวิชาการ
ทว่าปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าเห็นว่าข้อผิดพลาดที่เกิดจากการ “เข้าใจผิด” เป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้ และไม่กระทบต่อข้อเสนอหลักว่าด้วยการแทรกแซงทางการเมืองของสถาบันฯ ในยุค ร. 9 แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ไชยันต์อยากถกเถียงด้วย
“ผมไม่ได้เป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ ความเห็นของผมก็ไม่น่าจะ valid (ใช้ได้) ถ้าผมพูดว่ากระทบหรือไม่กระทบ แต่ตัวกรรมการวิทยานิพนธ์เขาพูดอีกแบบหนึ่ง… แต่สมมติว่ามีใครแต่งตั้งให้ผมเป็นคนให้ความเห็นเป็นทางการ นั่นแหละผมถึงจะให้ความเห็น” ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ไชยันต์ระบุว่า ทางจุฬาฯ กำลังพิจารณากรณีนี้อยู่ หลังนิสิตเก่าจำนวนหนึ่งเข้าชื่อกันและขอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ควรแค่ปกปิดหรือไม่ และความผิดนั้นร้ายแรงแค่ไหน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่ประสงค์จะก้าวล่วง อุปมาเหมือน “เวลาศาลจะตัดสิน ก็ไม่ควรไปให้ความเห็น”
“ตำรวจทางวิชาการ” กับ “มหาวิทยาลัยเซ็นเซอร์ความรู้”
ขณะที่ ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์แห่ง ม.วิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าความเข้าใจบทบาทความสำคัญของราชสำนักในช่วงก่อนปี 2500 ของเขาเปลี่ยนไป หลังได้อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของณัฐพลที่เขียนและแก้ไขเรียบเรียงใหม่เป็นหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ” (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2563) พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาของนักวิชาการที่ทำตัวเป็น “ตำรวจทางความคิด” และ “มหาวิทยาลัยเซ็นเซอร์ความรู้ ซึ่งบีบีซีไทยได้รับอนุญาตจาก ศ.ดร. ธงชัยให้อ้างอิงความเห็นที่ยังไม่เปลี่ยนไปของเขาได้
ในคำนำเสนอหนังสือขุนศึกฯ ธงชัยเล่าว่ามีโอกาสรับรู้และตรวจสอบข้อผิดพลาดที่ถูกกล่าวหา พบว่ากรณีหลักที่นักวิชาการตำรวจกล่าวหานั้น เป็นความผิดพลาดของณัฐพลจริงเพราะเข้าใจหลักฐานผิดตีความเกินเลยไป แต่ความผิดพลาดดังกล่าว มิได้สำคัญต่อวิทยานิพนธ์ทั้งเล่มหรือบทนั้นหรือตอนนั้น ณัฐพลได้เสนอหลักฐานชิ้นอื่นและข้อมูลอีกจำนวนมากในบทตอนนั้นและตลอดทั้งเล่ม เพื่อยืนยันข้อเสนอและการวิเคราะห์สำคัญ ๆ หากข้อความที่เป็นปัญหานั้นถูกยกออกไปหมดทั้งย่อหน้า วิทยานิพนธ์บทตอนนั้นและทั้งเล่มก็ยังนำไปสู่ข้อวิเคราะห์และข้อสรุปเหมือนเดิมทุกประการ
“สิ่งที่ตำรวจทางวิชาการอ้างว่าผิดพลาดอีกมากมายหลายสิบแห่งนั้น ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดพลาดสักแห่งเดียว อย่างมากก็เป็นการตีความที่ดิ้นได้ตามแต่อุดมการณ์และมุมมอง จนตำรวจทางวิชาการทึกทักว่าเป็นความผิดพลาด” ธงชัยโต้แย้งข้อกล่าวหาที่มีต่อนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง
ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์รายนี้ยังอ้างถึงธรรมเนียมวิชาการทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ด้วยว่า ในการถกเถียงทางวิชาการควรทำด้วยการถกเถียง นำเสนอข้อวิเคราะห์-หลักฐานที่ดีกว่าหรือการตีความที่ต่างออกไป แต่ตำรวจทางความคิดมิได้พยายามใช้วิธีทางวิชาการ กลับวิ่งเต้นให้มีการใช้อำนาจของคณะหรือมหาวิทยาลัยจัดการเซ็นเซอร์วิทยานิพนธ์เสียเลย
“มหาวิทยาลัยใดก็ตาม ถ้าหากทำการเซ็นเซอร์ความคิดและผลงานทางวิชาการ สมควรถูกประณามและลงโทษอย่างหนัก เพราะการกระทำเช่นนั้นเท่ากับมหาวิทยาลัยได้โยนทิ้งภารกิจพื้นฐานที่สุดของสถาบันทางวิชาการ นั่นคือการสร้างสรรค์วิทยาการเพื่อแสงสว่างทางปัญญาแก่สังคม การเซ็นเซอร์และปิดกั้นทางวิชาการถือเป็นการทำบาปขั้นมหันต์” ธงชัยระบุ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากธงชัย ทำให้ผู้ถูกพาดพิงชี้แจงผ่านบีบีซีไทยไว้ ดังนี้
- มหาวิทยาลัยเซ็นเซอร์ความรู้: “ทางบัณฑิตวิทยาลัยได้เชิญอาจารย์ณัฐพลเข้าไปชี้แจง แล้วอาจารย์เขาก็บอกว่ามีข้อผิดพลาดในวิทยานิพนธ์จริง เมื่อเขายอมรับ กระบวนการเบื้องต้นของงานวิชาการทั่วไปก็จะทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘บาร์วิทยานิพนธ์’ คือไม่ให้เข้าถึงวิทยานิพนธ์ได้” เอกก์กล่าว
- ตำรวจทางวิชาการ: “ถ้าคุณอยู่ฝ่ายหนึ่งที่สุดโต่ง คุณก็ต้องมองว่าผมเป็นอีกฝ่ายที่สุดโต่งต่อให้ผมแตกต่างคุณแค่นิดเดียว คุณก็ต้องบอกว่าผมเป็นขวา ถ้าคุณเป็นซ้ายจัด ผมแตกต่างจากคุณ ผมก็เป็นขวาไปแล้ว ถ้าคุณมองตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ใครเห็นต่างจากคุณ ผมก็ต้องถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมไปเรียบแล้ว” ไชยันต์กล่าว
ข้อถกเถียงปม “กษัตริย์เป็นผู้เล่นสำคัญในการเมือง”
เมื่อชวนมองย้อนกลับมาดูงานวิจัยของทีมไชยันต์เอง พบข้อมูล-หลักฐานหักล้างสมมติฐานของณัฐพลเรื่องกษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือการเมือง แต่เป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 หรือไม่
เขาไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่ใช้วิธียกงานเขียนและงานวิชาการชิ้นอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงสถาบันฯ เข้ากับการทำรัฐประหารมาอธิบายแทน
หนึ่งในหนังสือที่นักวิชาการรายนี้เอ่ยชื่อออกมาคือ “เดอะคิงเนเวอร์สไมลส์” (The King Never Smiles, สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยล) ของพอล แฮนด์ลีย์ นักเขียน/นักข่าวชาวอเมริกัน ออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. 2549 หรือ 3 เดือนก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ทว่าเป็น “หนังสือต้องห้าม” ไม่ให้เผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ไชยันต์สรุปประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไว้ 2 ส่วนคือ ชี้ให้เห็นการแทรกแซงทางการเมืองของสถาบันฯ และชี้ให้เห็นความพยายามในการฟื้นฟูและขยายพระราชอำนาจโดยใช้พระราโชบายและพระราชกรณียกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในทางวัฒนธรรม
“ผมไม่แน่ใจว่าการที่มีคนไทยพูดคำว่า ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’ หรือ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่โยงใยให้เห็นว่ามีคนชักใยอยู่เบื้องหลังการเมือง ชักใยอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร จะไปโยงกับหนังสือเล่มนี้หรือเปล่า” เขาโยนสมมติฐานขึ้นมาลอย ๆ ก่อนจงใจวกกลับไปหา “วิทยานิพนธ์ที่ถูกปกปิด” ซึ่งเขียนเสร็จในปี 2552 โดยพูดถึงบทบาทของผู้สำเร็จราชการฯ แล้วบอกว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง
อย่างไรก็ตามบีบีซีไทยตรวจสอบรายการอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ไม่พบว่ามีการใช้ข้อมูลจาก “หนังสือต้องห้าม” ตามที่ไชยันต์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
คำชี้แจงจาก ณัฐพล ใจจริง
หลังออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ “วิทยานิพนธ์ดีเด่น” ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมตีตราว่าเป็น “วิทยานิพนธ์ล้มเจ้า” แต่ไชยันต์อ้างว่าเขาเป็นคนบอกจุฬาฯ ไม่ให้ฟ้องคดีหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
“ถามว่า 112 ไหม เวลาคุณบอกว่าพวกนี้ทำตัวต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คุณไปบอกพวกเยาวชนหรืออะไรก็แล้วว่าเป็นกบฏ แรงใช่ไหม คุณกำลังบอกว่ากรมขุนชัยนาทนเรนทรทำในสิ่งเดียวกันแหละคือกำลังล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คุณกำลังกระทำผิดระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะคุณไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ความผิดพลาดความรุนแรงพอกันนะ 112 ทั้งนั้นล่ะ เพียงแต่ผมบอกจุฬาฯ ตั้งแต่ต้นว่าไม่อยากให้เกิดการถอดถอน (ปริญญา) ไม่อยากให้เกิดการใช้มาตรา 112 เพราะมาตรา 112 แรงมาก ถ้าเรารู้ตัว แก้ไข มันก็จบ” ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง จุฬาฯ กล่าว
บีบีซีไทยติดต่อไปยังณัฐพลเพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาต่าง ๆ แต่เจ้าตัวปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ โดยบอกเพียงว่า “ผมไม่ประสงค์ตอบโต้”
อย่างไรก็ตามหลังบทความนี้เผยแพร่ไปได้ 1 วัน ณัฐพลได้ส่ง “จดหมายเปิดผนึกต่อข้อกล่าวหาจาก ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร” ถึงบีบีซีไทย ลงวันที่ 3 มี.ค. สรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้
- วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษานโยบายต่างประเทศและบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อการเมืองไทยในช่วงต้นของสงครามเย็น ไม่ได้มุ่งศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์
- หลังทราบข้อร้องเรียนของไชยันต์ กรณีกรมขุนชัยนาทฯ เสด็จเข้าประทับในการประชุม ครม. ปี 2493 ณัฐพลยืนยันว่า “มิได้นิ่งนอนใจและได้รีบตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในทันที และพบว่าอ่านผิดพลาดจริง” หลังปรึกษาคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ที่ร่วมประชุม จึงแสดงเจตจำนงขอแก้ไขประเด็นนี้ต่อบัณฑิตวิทยาลัยในทันที แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไข ซึ่งเป็นกฎที่ใช้กับวิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่ผ่านกระบวนการสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และบัณฑิตวิทยาลัยได้ดำเนินการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ในเวลาต่อมา
“นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีใจเป็นกลางย่อมทราบดีว่าการตีความหลักฐานผิดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ตราบเท่าที่การตีความผิดพลาดบางจุดไม่ส่งผลต่อข้อถกเถียงหลักของวิทยานิพนธ์ ก็ไม่มีเหตุให้งานชิ้นนั้นสมควรถูกทำลายลง กระนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการอ่านเอกสารผิดพลาดหนึ่งจุดนี้ ไม่มีผลกระทบต่อข้อถกเถียงหลักของบท ต่อให้ตัดข้อความดังกล่าวทิ้งก็ไม่กระทบแต่อย่างใด เพราะยังมีหลักฐานอีกจำนวนมากที่ใช้ประกอบสร้างข้อถกเถียงหลักของบทนั้น” ณัฐพลระบุ
- ข้อจำกัดในการแก้ไขและการปิดกั้นการเข้าถึงวิทยานิพนธ์ ทำให้ณัฐพลเห็นควร “เผยแพร่วิทยานิพนธ์ฉบับปรับปรุงแก้ไขแล้วในรูปของหนังสือขุนศึกฯ” อันเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชน ส่วนหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ไม่สามารถแก้ไขได้ทัน เพราะตีพิมพ์ก่อนทราบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่หากมีการตีพิมพ์ซ้ำในอนาคต ก็ยินดีแก้ไขจุดที่ผิดพลาดหนึ่งจุดนั้น
- กรณีไชยันต์กล่าวหาว่ามีจุดผิดพลาดอีก 31 จุด ณัฐพลชี้แจงว่าได้นำเสนอหลักฐานต่อคณะกรรมการวิทยานิพนธ์แล้ว และยืนยันการตีความเดิมทั้งหมด เนื่องจากข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นความบกพร่องของผู้กล่าวหาเอง เช่น ใช้เอกสารผิดชิ้น, ผิดวันที่, ชื่อเอกสารผิด ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ รับทราบคำชี้แจงแล้วและไม่ติดใจในข้อกล่าวหาเหล่านี้
“ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการตรวจสอบที่จุฬาฯ ได้แต่งตั้งขึ้น จะรับฟังข้อเท็จจริงจากข้าพเจ้า และพิจารณาภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยจิตใจที่ปลอดอคติและยุติธรรม” นักวิชาการ ผู้เป็นเจ้าของงานวิทยานิพนธ์ที่ถูกปกปิด ระบุทิ้งท้ายจดหมายเปิดผนึก
“อีก 79 เล่มทำยังไง กำลังทำอยู่”
ท่ามกลางงานวิจัยเกี่ยวกับสถาบันฯ นับจากปฏิวัติสยาม 2475 ซึ่งมีผู้สนใจศึกษารวบรวมรายชื่อไว้ว่ามีไม่ต่ำกว่า 80 ชิ้น น่าสงสัยว่าทำไมจึงมีเพียงงานของณัฐพลที่ถูกสำรวจ-ตรวจสอบอย่างไม่ลดละ
“ก็เจอข้อผิดพลาดตรงนี้ อันอื่นยังไม่ได้เจอ” ไชยันต์ตอบทันควัน ก่อนขยายรายละเอียดว่าทีมวิจัยของเขาไล่อ่านหนังสือตามลำดับเวลาที่แบ่งไว้ในกรอบการวิจัย โดยชิ้นแรกเป็นช่วงต้นรัชกาลนับจากพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีขึ้นครองราชย์ในปี 2489-2494 จึงมาพบกับงานของณัฐพลที่เขียนถึงเหตุการณ์ในปี 2493 พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีธงในใจว่าสถาบันฯ จะไม่แทรกแซง แต่สิ่งสำคัญก็คือมีหลักฐานอะไรมายืนยันสมมติฐาน
“ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ค่อย ๆ อ่านไปสิครับ ถามว่าอีก 79 เล่มทำยังไง กำลังทำอยู่ จะมีโครงการให้อ่านทั้งฝ่ายที่เขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ฝ่ายสำนักเจ้ากับสำนักวิพากษ์มาไล่ดูทั้งหมด” เขาบอก
ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์รายนี้เคยประกาศผ่านสื่อหลายครั้ง เชิญชวนนักประวัติศาสตร์มาร่วมกันชำระประวัติศาสตร์ โดยนำงานวิชาการที่พูดถึงสถาบันฯ ทั้งฝ่าย “วิจารณ์เจ้าเชิงลบ” และ “วิจารณ์เจ้าเชิงบวก” มาอ่านใหม่-ไล่ดูว่ามีการ “บิดเบือน”หรือ “กุความเท็จ” หรือไม่อย่างไร
“ไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ แต่ปกป้องวิชาการ-เยาวชน”
ตลอดเวลาที่สนทนากับบีบีซีไทย ไชยันต์ยืนยันอย่างน้อย 4 ครั้งว่าสิ่งที่เขาทำ “ไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ แต่ปกป้องวิชาการ และปกป้องเยาวชนที่รับข้อมูลไป”
เมื่อ “คณะราษฎร” กลับมาเกิดใหม่ในปี 2563 พร้อมการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ หนึ่งในงานที่ได้รับความสนใจจากเยาวชน จึงหนีไม่พ้น ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475
“ถ้าผมไม่รู้ว่าเขาอ่านหนังสือเล่มนี้ (ขอฝันใฝ่ฯ) ผมก็คงไม่เกี่ยวหรอก แต่ว่าอาจารย์กนกรัตน์ (เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ไปทำวิจัยมาพบว่าเป็น 1 ใน 4 หนังสือยอดฮิต โห มีอิทธิพลขนาดนี้ก็แปลว่ามันแย่นะ แล้วเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร) ก็อุตส่าห์ให้สัมภาษณ์ว่าหนังสือเล่มนี้เขาแฮปปี้ที่สุด มันไม่ใช่แล้วล่ะ ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดการปฏิรูปสถาบันฯ แต่หมายความว่าเยาวชนที่ไปชุมนุมเขาเต็มไปด้วยความคิด การรับรู้แบบนี้ ด้วยวัยของเขา การเข้ามารวมฝูงกัน ไอ้เรื่องพฤติกรรมฝูงชน อารมณ์ และข้อมูลที่เขาได้รับ มันจะทำให้เขากระทำผิดกฎหมาย เกินเลย แล้วความเสียหายมันเกิดขึ้นกับเขา”
“อย่างน้อยเยาวชนต้องไม่ไปติดคุกเพียงเพราะว่าไปอ่านหนังสือ หรือไปยอมรับข้อมูลที่ผิดพลาด มันเป็นความรับผิดชอบของนักวิชาการที่คุณปล่อยสิ่งเหล่านี้ไปถึงเยาวชนได้ยังไง” เขาตั้งคำถาม
อาจารย์ผู้มีลูกศิษย์บางส่วนเป็นแกนนำเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ระบุว่า เขาเคยปรึกษาผู้รู้ทางกฎหมายและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทำให้ทราบว่าหากมีการยอมรับและไปสารภาพต่อศาลว่ากระทำไปด้วยความไม่รู้ หรือกระทำไปเพราะความเข้าใจผิด จะทำให้ไม่มีคดีเลย จบ
เมื่อถูกแย้งว่าเยาวชนที่ออกไปชุมนุมคงไม่ได้อ่านหนังสือเพียงเล่มเดียว
ไชยันต์ยอมรับ แต่ยังยืนกรานว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งที่โดดเด่น ใครไปชุมนุมก็ถ่ายรูปโชว์ จึงอยากชวนเยาวชนให้ลองกลับไปอ่านใหม่ ขอดูเชิงอรรถทั้งหมด หรือมีนักวิชาการที่ไหนจะช่วยเคลียร์เชิงอรรถให้ได้ไหม
“เรามาเริ่มต้นกันใหม่ล่ะ แล้วค่อยไปชุมนุมกันอย่างจริงจังไหมล่ะ เอาอย่างนี้ไหม มันจะดีกว่าไหม มันมีฐานที่แน่น ไม่ใช่ไปแบบลอย ๆ กลวง ๆ แล้วไปเจอแบบนี้ แล้วถึงเวลาก็มาบิดเบือนว่าผมเป็นฝ่ายขวาจัด ผมออกมาปกป้องสถาบันฯ ผมไม่ได้ปกป้องสถาบันฯ ผมปกป้องพวกคุณที่ไปโดยไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงมากกว่า” ไชยันต์กล่าวเสียงดัง
ท้ายที่สุดเมื่อถามว่าภารกิจ “พิสูจน์ความจริง” ผ่านเชิงอรรถซึ่งไชยันต์ทำมากว่า 3 ปีนับจากปี 2560 เหมือนหรือต่างกับภารกิจของ นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี ที่อ้างถึงรับสั่งของในหลวง ร. 10 “ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา”
คำตอบของเขาคือ “ผมไม่ได้หาอะไรเลย ผมก็หาฟุตโน้ต (เชิงอรรถ) ที่เขาอ้างเท่านั้น ผมไม่ได้ไปหาอะไรเพิ่ม ผมบอกแล้วไงว่าผมไม่ได้มีหน้าที่มาปกป้องสถาบันฯ ผมมีหน้าที่ตรวจสอบความผิดถูกทางวิชาการ ถ้าคุณไม่ได้อ้างอิง ผมจะไปตรวจอะไรคุณล่ะ ถ้าคุณไม่มีอ้างอิง ผมถือว่าเป็นความผิดของคุณ คุณต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าคุณอ้างอิง ก็แปลว่าไม่ใช่ความผิดของคุณ แต่คุณกำลังบอกว่า มีหลักฐาน ผมแค่ไปตรวจสอบหลักฐานว่ามีไม่มี ผมไม่ได้ไปหาอะไรนอกจากที่คุณเขียนมาเลย”
ลำดับเหตุการณ์
- 2552 วิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของ ณัฐพล ใจจริง ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ตามหลักสูตรรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 2556 วิทยานิพนธ์ของณัฐพลได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2550)” โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
- 2559 วิทยานิพนธ์ “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย” ของ อนุชา อชิรเสนา ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไชยันต์ตรวจพบในภายหลังว่ามีการอ้างอิงเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ ต่อจากวิทยานิพนธ์ของณัฐพล จึงแจ้งกรรมการวิทยานิพนธ์ให้รับทราบ ประกอบด้วย รศ.ดร. วิษณุ วรัญญู ประธานกรรมการวิทยานิพนธ์ ปัจจุบันเป็นรองประธานศาลปกครองสูงสุด, ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ปรึกษาเล่ม, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, รศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เสียชีวิตแล้ว และ รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล
- 2560 ทีมไชยันต์ตรวจพบความผิดพลาดจากรายการอ้างอิงเกี่ยวกับบทบาทของกรุมขุนชัยนาทฯ ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล จึงแจ้งกรรมการวิทยานิพนธ์รับทราบและขอข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบด้วย ศ.ดร. ไชยวัฒน์ คำชู ประธานกรรมการวิทยานิพนธ์, รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ที่ปรึกษาเล่ม, รศ.ดร. วีระ สมบูรณ์, รศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เสียชีวิตแล้ว และ ศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปัจจุบันเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ไชยันต์ระบุว่า “กรรมการแต่ละคนตกใจว่าลอดหูลอดตาไปได้อย่างไร และเห็นพ้องว่าควรเรียกณัฐพลมาคุย ซึ่งณัฐพลยอมรับความผิดและติดต่อขอแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่บัณฑิตวิทยาลัย แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญาไปแล้ว”
- 28 พ.ค. 2561 ไชยันต์ทำหนังสือถึงบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ แจ้งปัญหาการใช้เอกสารอ้างอิงในดุษฎีนิพนธ์อย่างไม่ตรงกับความเป็นจริงในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล
- 14 ก.พ. 2562 คณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัย มีมติให้ระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ของณัฐพลโดยไม่มีกำหนด หลังตรวจสอบพบว่า “มีการอ้างอิงคลาดเคลื่อน ข้อวินิจฉัยและข้อสรุปบางรายการไม่ตรงกับเอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุและแหล่งอ้างอิง” พร้อมระบุว่าณัฐพล “ได้ยอมรับถึงความคลาดเคลื่อน”
- 2563 วิทยานิพนธ์ของณัฐพลได้รับปรับปรุงแก้ไข ก่อนตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ทว่ามีการเรียบเรียงพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นจากวิทยานิพนธ์เล่มเดิม ณัฐพลชี้แจงไว้ในคำนำว่า “ผู้เขียนได้ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้มีความถูกต้องตามข้อท้วงติงของหลายท่าน”
- 1 มิ.ย. 2563 ไชยันต์ทำหนังสือถึงจุฬาฯ อีกครั้งเพื่อให้ดำเนินการกรณีการใช้เอกสารในดุษฎีนิพนธ์อย่างไม่ตรงกับความเป็นจริง หลังพบว่ามีการนำเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มที่ 2
- 11 ส.ค. 2563 บัณฑิตวิทยาลัยทำหนังสือถึงณัฐพล แจ้งให้งดการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ และงดการอ้างอิงข้อความใด ๆ ในวิทยานิพนธ์ที่ไม่ตรงกับความจริง
- ธ.ค. 2563 ไชยันต์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างน้อย 3 สำนัก ประกอบด้วย เวย์, เนชั่นทีวี และผู้จัดการ เกี่ยวกับภารกิจพิสูจน์ว่ามี “การอ้างอิงคลาดเคลื่อน” ในวิทยานิพนธ์รวม 31 จุด นอกจากนี้ในเทปสุดท้ายของรายการ “ถามตรง ๆ กับจอมขวัญ” ทางช่องไทยรัฐทีวี พิธีกรยังนำประเด็นร้อนทางวิชาการไปถามปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ด้วย
- 19 ธ.ค. 2563 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันชี้แจงกรณีไชยันต์กล่าวหาสำนักพิมพ์ตีพิมพ์ผลงานที่ “กุเรื่อง” ขึ้นมา โดยยืนยันว่าหนังสือขุนศึกฯ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขหลายเรื่อง รวมถึงการอ้างอิงที่ไชยันต์กล่าวหา และเห็นว่า “ข้อผิดพลาดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้โดยหาได้มีผลกระทบต่อข้อเสนอหลัก” พร้อมชี้ให้เห็นถึงยุทธวิธีของไชยันต์และเป้าหมายที่แท้จริงของเขา
- 28 ธ.ค. 2563 กองบรรณาธิการบางกอกโพสต์ลงข้อความชี้แจงในหนังสือพิมพ์ กรณีนักประวัติศาสตร์อ้างอิงข่าววันที่ 18 ธ.ค. 2493 ว่าผู้สำเร็จราชการฯ เข้าร่วมประชุม ครม. สมัยจอมพล ป. เป็นการแทรกแซงการเมือง เสมือนประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยระบุว่าไม่เคยรายงานข้อมูลตามที่มีการอ้างอิงในวิทยานิพนธ์
- ม.ค. 2564 ศิษย์เก่าจุฬาฯ นำโดย นันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้บริหารจุฬาฯ ตั้งกรรมการสอบสวนกรณี “วิทยานิพนธ์มีตำหนิ” อย่างจริงจัง อย่าปล่อยผ่าน หรือเพียงระงับไม่ให้เผยแพร่ เนื่องจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจะถูกนำไปอ้างอิงต่อในฐานะแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
- ก.พ. 2564 อธิการบดีจุฬาฯ ลงนามใน “คำสั่งลับ” แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพล