เผยแพร่:
ปรับปรุง:
“ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต” หลานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย “ณัฐพล ใจจริง” และ “สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน” 50 ล้านบาท ระบุวิทยานิพนธ์และหนังสือที่แต่ง ปั้นแต่งความเท็จ ใส่ความ เจตนาให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ ได้รับความเสียหายจนยากที่จะเยียวยาแก้ไข พร้อมขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวห้ามเผยแพร่
วันนี้ (8 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้มอบหมายให้นายสมผล ตระกูลรุ่ง ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. เพื่อดำเนินคดีต่อนายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”, นางกุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กรณีที่นายณัฐพลเขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” รวมทั้งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” มีข้อความบางตอนที่โจทก์อ้างว่าบิดเบือนทำให้ได้รับความเสียหาย
ความบางตอนในการบรรยายฟ้องของโจทก์ ระบุว่า วิทยานิพนธ์เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500), หนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) การพูดในการเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล้วนเป็นสิ่งที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าไม่เป็นความจริง เป็นการปั้นแต่งความเท็จขึ้นใส่ความ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการว่า ทรงประพฤติตนไม่สมต่อตำแหน่งหน้าที่ ทั้งการใช้พระราชอำนาจสนับสนุนรับรองการรัฐประหารปี 2490 และการเข้าแทรกแซงการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ โดยเจตนาเพื่อให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ การกล่าวหรือไขข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนความจริงของจำเลย ได้กระทำทั่วราชอาณาจักร รวมถึงนอกราชอาณาจักร เพื่อทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต
“เนื่องจากจำเลยทั้งหกยังคงไขข่าวให้แพร่หลายซึ่งข้อความเป็นฝ่าฝืนความจริง อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ โจทก์จึงใคร่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยทั้งหกกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด โดยให้จำเลยทั้งหกหยุดเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จซึ่งปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป ขอศาลโปรดอนุญาต ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” ในตอนท้ายของคำฟ้องระบุ
สำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ของนายณัฐพล ใจจริง ขณะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก คือ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ถูก ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบการอ้างอิงหลักฐานปลอม ซึ่งต่อมาวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวถูกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ดัดแปลงเนื้อหามาตีพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี โดยเฉพาะเชิงอรรถอ้างอิงถึงข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2493 ระบุว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พยายามขยายบทบาททางการเมือง โดยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่บ่อยครั้ง โดยการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย”
ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ชี้แจงว่า “ไม่เคยรายงานข้อมูลดังกล่าว” ตามที่มีการอ้างอิง รวมถึงนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ รวมถึงหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน คือ นายณัฐพล รวมถึงในงานเสวนา นอกจากนี้ยังตรวจพบการอ้างอิงคลาดเคลื่อนรวม 31 จุดในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ และพบว่าไม่สามารถหาที่มาที่ไปของแหล่งข้อมูลได้ เมื่อสอบถามไปยังอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว และผู้วิจัย ก็ได้คำตอบกลับมาว่าไม่ได้เก็บหลักฐานของแหล่งอ้างอิงที่มางานวิจัยเอาไว้ จึงทำให้เกิดการเรียกร้องขอให้เพิกถอนวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพลออกไปจากระบบ ไม่ควรนำมาเป็นแหล่งสืบหาความรู้ กลายเป็นวิทยานิพนธ์ฉาวที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
อ่านประกอบ : บางกอกโพสต์ชี้แจง ปี 2493 ไม่เคยลงข่าวผู้สำเร็จราชการฯ เข้าร่วมประชุม ครม. ตามที่ “ดร.ณัฐพล-ฟ้าเดียวกัน” อ้างในวิทยานิพนธ์-หนังสือ
“เบิกเนตร แก๊งตาสว่าง” ฉบับ “ไชยันต์ ไชยพร” : “ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อยากให้อนาคตเน่า ๆ ของการเมืองและวิชาการ ที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีมันเน่าต่อไป”