เพจ “กองปราบปราม” อธิบายกฎหมายกรณีหากมีทะเบียนสมรสอยู่แล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แอบไปจัดงานแต่งงานกับผู้อื่นอีกไม่สามารถทำได้ และถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือมีความประสงค์ที่จะฟ้องร้องหย่า สามารถเข้าปรึกษาได้ที่ “ศาลเยาวชน และครอบครัว” ในท้องที่
จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กหญิงรายหนึ่งซึ่งเป็นชาวจังหวัดชัยนาท พร้อมกับแม่สามี บุกเข้าไปในงานมงคลสมรสงานหนึ่ง ที่มี “สิบตำรวจเอก” นายหนึ่ง อายุ 34 ปี ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองชัยนาท เป็นสามีของตน กำลังทำพิธีผูกข้อมือกับเจ้าสาวอีกคนหนึ่ง ก่อนที่จะแสดงใบทะเบียนสมรส ชื่อของเจ้าบ่าวกับตน จดทะเบียนกับสำนักทะเบียนอำเภอเมืองชัยนาท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เลขทะเบียน 72/13390 มาแสดงในงาน โดยเรื่องนี้ภรรยาหลวงได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยนาทแล้ว ขณะที่ พ.ต.อ.ปฏิกรณ์ หาญหัตถกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองชัยนาท ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เพจ “กองปราบปราม” ได้ออกมาโพสต์อธิบายสิทธิตามกฎหมาย กรณีหากมีทะเบียนสมรสอยู่แล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แอบไปจัดงานแต่งงานกับผู้อื่นอีกไม่สามารถทำได้ และถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทางเพจอธิบายว่า “มีทะเบียนสมรสอยู่แล้ว แต่ไปแต่งงานใหม่ ทำได้รึเปล่า??
การที่สามี หรือภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แอบไปจัดงานแต่งงานกับหญิง หรือชายอื่น มีแขกมีเพื่อน มีญาติพี่น้องมาร่วมแสดงความยินดีด้วยนั้น พฤติการณ์เช่นนี้ทางกฎหมายถือว่า หญิง หรือชายคนนั้นได้ยกย่องชาย หรือหญิงอื่นอย่างสามี หรือภริยาของตนแล้ว
ในกรณีเช่นนี้ เรามาดูสิทธิตามกฎหมายของสามี หรือภริยาตามกฎหมาย ว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
1. สามารถฟ้องหย่า ”สามี หรือภริยา” ได้ (ป.พ.พ. 1516(1))
2. สามารถฟ้อง ”ชาย หรือหญิงอื่น” เพื่อเรียกค่าทดแทนได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1523)
3. สามารถฟ้อง ”สามี หรือภริยา” เพื่อเรียกค่าทดแทนได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1523)
4. สามารถฟ้องทั้ง ”สามี หรือภริยา” และ “ชาย หรือหญิงอื่น” เพื่อเรียกค่าทดแทนพร้อมกันก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1523)
5. ถ้าการหย่าทำให้ “สามี หรือภริยา” ยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ (ป.พ.พ มาตรา 1526 และฎีกาที่ 8046/2556)
ดังนั้น การที่สามี หรือภริยา ที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย แอบไปจัดงานแต่งงาน กับชาย หรือหญิงอื่น นั้นไม่สามารถทำได้
นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการหักหาญน้ำใจของอีกฝ่ายอีกด้วย หากคู่สามี หรือภริยาใด มีความประสงค์ที่จะฟ้องร้องหย่าคู่ของตน สามารถเข้าปรึกษาได้ที่ “ศาลเยาวชน และครอบครัว” ในท้องที่ที่ท่านอาศัยอยู่”