องค์รวมยังดูงดงาม ด้วยพุทธศิลป์สมัยอู่ทอง ยุคต้น ทั้งฟอร์มทรงที่ตรงสเปก พิมพ์องค์พระที่งดงามตามมาตรฐาน อกผาย ไหล่ผึ่ง พระพักตร์ปรากฏ พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ พระกรรณ แบบเดิมๆ เนื้อพระละเอียดแน่น อุดมด้วยมวลสารครบสูตร ผิวเนื้อมีคราบฝ้า ราดำ จับแน่นเข้าเนื้อ บอกอายุถึงยุคสมัย ด้านหลังมีลายนิ้วมือกดลึก บอกชัดความเป็นพระที่ พระมหาเถรปิยะทัสสี สร้างไว้
คิดแล้วทึ่ง เพราะสมัยนั้นหลายร้อยปีมาแล้ว พระเครื่องยังไม่มีเรื่องยี่ห้อ ไม่มีลิขสิทธิ์ ที่จะยืนยันความเกี่ยวข้องแต่ พระผงสุพรรณ ทำสัญลักษณ์ไว้ เหมือนจะรู้ว่าอนาคตกาลผ่านมาอีกกี่ร้อยกี่พันปี คนจะรู้ได้ว่าใครสร้าง เพราะลายนิ้วมือที่กดประทับไว้
ต่อด้วย พระรอด พิมพ์กลาง กรุวัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน ๑ ใน ๕ พระพิมพ์มาตรฐานในตระกูลพระรอด พระพิมพ์ยอดนิยมอันดับ ๑ ของเมืองเหนือ ที่เรียงลำดับความสำคัญความนิยมจาก พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ พิมพ์ตื้น
องค์นี้เป็น พระพิมพ์กลาง สภาพสมบูรณ์ แท้ดูง่าย ผ่านการลอกคราบกรุ อย่างเกลี้ยงเกลา ด้วยฝีมือช่างผู้รู้รักษาพิมพ์พระเป็นอย่างดี เปิดเห็นเนื้อใน ที่ละเอียดนุ่มหนึบแน่นแกร่ง
พิมพ์องค์พระที่ล่ำสัน ซุ้มโพธิ์ลึกชัด สีเนื้อนิยม ส้มอมพรายชมพู คราบฝ้ารากรุ ที่เหลืออยู่ในซอกส่วนลึกเป็นอีกจุดพิจารณาสำคัญ ยืนยันอายุความเก่า ที่ห้ามมองข้าม
เพราะปัจจุบันพระแท้ หายาก ราคาสูงมาก ถ้าพลาด เสียทั้งเงิน ทั้งความรู้สึก และไม่ได้พึ่งพาพุทธคุณ เพาะไม่แน่ว่าจะผ่านการปลุกเสกมาหรือไม่ แต่องค์นี้ของ เสี่ยดิว ลำพูน ถึงแม้จะจ่ายแพง แต่วันนี้สบายใจได้ของดีแน่ วันหน้าก็ได้กำไร ไม่ต้องเป็นแบบ เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย
อีกรายการเป็น พระบาง เนื้อเขียว (หินครก) กรุวัดดอนแก้ว อ.เมือง จ.ลำพูน ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ตามคำสั่งทางการ ที่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง วัด ชาวบ้าน หาพระเครื่องของขลัง แจกจ่ายทหารที่ออกรบทำศึกสงคราม
ลักษณะเป็น พระเนื้อดินเผา รูปทรงเล็บมือ ด้านหน้าเป็นองค์พระนั่งปางมารวิชัย พุทธ–ศิลป์แบบคุปตะของอินเดีย อยู่เหนือฐานบัวลูกแก้ว ๒ ชั้น ภายใต้ซุ้มปรกโพธิ์ ๒๐ ใบ
องค์รวมดูคล้าย พระคง แต่พระกรซ้ายช่วงหักศอก จะยกเฉียง แตกต่าง จาก พระคง ที่วางตรงเป็นมุมฉาก องค์พระดูชะลูด มีความบอบบางกว่า ทั้งพิมพ์องค์พระ เนื้อมวลสารที่จะเห็นชัดที่ด้านหลัง จะปาดเนื้อเรียบบาง ต่างจากพระคงที่อูม หนา
พระส่วนใหญ่ที่ค้นพบจากกรุนี้ มีสภาพสวยสมบูรณ์ สีเนื้อ น้ำตาล เหลือง ส้ม และเขียว (หินครก) อย่างองค์นี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นสีอินเทรนด์ ฮอตฮิต ติดลม นิยมสูงสุด ราคาสูงกว่าสีอื่นในสภาพเดียวกัน
เป็นพระซื้อง่ายขายคล่อง โดยเฉพาะองค์งามๆ ระดับแชมป์ สภาพเดิมๆอย่างองค์นี้ของ เสี่ยเอกชัย วิสาหะพานิช มีใบสั่งรองรับไม่ขาดสาย
อีกสำนักเป็น พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้นอกตัน กรุวัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง น้องสุดท้องในสกุล พระ ๓ สมเด็จ ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่สร้างจากวัดระฆังฯ นำไปบรรจุไว้ ณ วัดไชโย จ.อ่างทอง ครั้งสมเด็จฯโต ท่านเดินทางไปสร้างพระ ประธาน เป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้คุณตาและ มารดา
กาลเวลาล่วงเลยมาถึงราวปี พ.ศ.๒๔๖๔ มีการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถครั้งใหญ่ เกิดแรงสะเทือนจากการก่อสร้างทำ องค์พระประธาน ชำรุดพังทลายลงมา พร้อม พระพิมพ์เนื้อผงรูปทรงสี่เหลี่ยม ตัดรอบแบบกรอบกระจก
พุทธศิลป์ในองค์พระเป็นแบบอกร่อง หูบายศรี ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อพระเป็น ผงพุทธคุณผสมมวลสารปูนเปลือกหอย สีเนื้อขาวอมเหลือง มีทั้งเนื้อแห้งหนึบนุ่มแน่นแกร่ง แบบ “เนื้อกระดูก” และเนื้อฉ่ำนวล แก่น้ำมัน
พระกระจัดกระจายออกมาอยู่รายรอบ มากมายหลากหลายแบบพิมพ์ ชาวบ้านต่างมานำติดตัวกลับไปจนหมด โดยทางวัดไม่ได้หวงแหน บางส่วนที่วัดจัดเก็บไว้ แยกพิมพ์ได้มากกว่า ๑๐ แบบ
ต่อมามีการค้นพบพระพิมพ์วัดเกศฯ ๓ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่นิยมฐาน ๗ ชั้น ๒.พิมพ์นิยม ๖ ชั้นอกตัน ๓.พิมพ์นิยม ๖ ชั้นอกตลอด ได้ในคราวงานพิธีเปิดกรุพระเจดีย์ วัดใหม่อมตรส อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
ทำให้มีการกำหนดพิมพ์พระทั้ง ๓ แบบนี้ เป็นพิมพ์นิยม ที่วงการเล่นหาเป็นมาตรฐาน องค์นี้ของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน เป็นพิมพ์นิยม ๖ ชั้นอกตัน สภาพงามสมบูรณ์แบบนี้ ราคาน่าจะขึ้นหลักล้านแล้ว
ตามมาด้วย พระปิดตา พิมพ์กลางหลังแบบ เนื้อผงคลุกรัก หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ อ.เมือง จ.ชลบุรี ๑ ในพิมพ์พระปิดตามาตรฐาน สกุล หลวงพ่อแก้ว ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับการยกย่องเป็น จักรพรรดิ พระปิดตา ด้วยราคาค่าความนิยมที่สูงลิบและอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมล้น รอบด้าน เทียบเคียงได้กับ พระสมเด็จ วัดระฆังฯ
แต่จำนวนพระมีน้อยกว่ามาก หายากกว่าเยอะ องค์ในภาพนี้ของ เสี่ยเพชร-อิทธิ ชวลิตธำรง เป็น พระพิมพ์รอง ในตระกูล แต่ความงามสมบูรณ์ ไม่แพ้ใคร ใช้ดี โชว์ได้ แพงไม่แพ้พิมพ์ใหญ่ สายตรงเห็นคงคุ้นตา เพราะเป็นองค์ที่วงการยอมรับ สู้ราคา แย่งชิงเปลี่ยนมือวนเวียนอยู่กับนักนิยมมือหนักมานานมาก
อีกสำนักเป็น เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๖ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เหรียญหลัก ๑ ใน ๕ เหรียญเบญจฯ พระเกจิฯยอดนิยมนี้ผู้ชำนาญการสายตรงแยกบล็อกแม่พิมพ์ได้เป็นด้านหน้า ๒ แบบ คือ ๑.มีจุด ๓ จุด เป็นเม็ดไข่ปลาอยู่เหนือไหล่ด้านขวาองค์ท่าน กับ ๒.ไม่มีจุด
ด้านหลังมี ๕ แบบ คือ ๑.หลังอุใหญ่ ๒.หลังอุกลาง ๓.หลังอุเล็ก ๔.อุบวก (พวงมาลัย) ๕.ยันต์ใบพัดใหญ่ (ไม่มีอุ) อย่างเหรียญนี้ของ เสี่ยจตุโชค สัยยะนิฐี เป็น บล็อกหายากสุด ที่สำคัญยังไม่มี เหรียญเก๊ เพราะเพิ่งมีพบเพียง ๒ เหรียญ–ทำให้ “มือผี” ยังหา เหรียญแท้ ไป ถอดพิมพ์ ไม่ได้–จะทำปลอมเลยก็ไม่เนียน
ต่อด้วย พระปิดตา แร่บางไผ่ จ.นนทบุรี ของ เสี่ยเพชร-อิทธิ อีกองค์
พิจารณาเนื้อโลหะ อายุความเก่า คราบสนิม ความลึกซึ้งของพุทธศิลป์ รูปลักษณ์ขององค์พระ และความคิดเห็นของผู้รู้สายตรงตัวจริง ต่างเชื่อว่าน่าจะเป็น พระปิดตาแร่บางไผ่ อีกพิมพ์หนึ่ง ที่สร้างไว้โดย หลวงปู่จันทร์ วัดโมฬี จ.นนทบุรี ต้นตำรับ พระปิดตาแร่บางไผ่ ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายเป็น ๑ ใน ๕ พระปิดตาเบญจภาคี เนื้อโลหะยอดนิยม
แต่ พิมพ์พระ มีลักษณะเป็น องค์พระสังกัจจายน์ นั่งยกพระหัตถ์ปิดหน้า อย่างเรียบง่าย ไม่มีการวางเส้นสายลายยันต์บนองค์พระ แตกต่างจากพิมพ์นิยม ที่วงการเล่นหา จึงขอนำภาพมาให้พิจารณา เผื่อใครมีเหมือน หรือมีข้อมูลชัดเจน รู้ลึก รู้จริง จะได้แบ่งปันความรู้กัน
สุดท้ายเป็นเครื่องรางของขลัง ตะกรุดไม้ครู ถักเชือกลงรัก หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม กทม. เป็นเครื่องรางระดับพรีเมียมที่ หลวงปู่ภู ท่านสร้างมอบเฉพาะบุคคลที่เห็นควร ซึ่งล้วนเป็นนาย นักปกครอง เจ้าของกิจการ
เพราะ ตะกรุดไม้ครู นี้ มีอานุภาพสูงเด่น ด้านมหาอำนาจ เป็นเอก สร้างตามตำรับวิชาของท่าน ด้วย ไม้ไผ่ ที่หลวงปู่ใช้ จิ้มศพ ตรวจผู้เป็นโรคห่า ที่กองสุมอยู่ที่สุสานวัดสระเกศ คราวเกิดโรคระบาด “ระกาห่าใหญ่”
ถ้าพบผู้ยังพอช่วยชีวิตก็นำมารักษาให้ฟื้นจากตาย หายจากโรคห่าได้หลายราย เป็นที่เลื่องลือ ว่าเป็น ไม้ชี้เป็นชี้ตาย
เมื่อโรคระบาดหายไป ท่านได้นำ ไม้ไผ่ นั้นมาตัดเป็นท่อนตามข้อปล้อง ลงจารอักขระเลขยันต์ บรรจุผงพุทธคุณ ปิดหัวท้ายด้วยกระดาษสา ลงยันต์ถักเชือกลงรักปิดทอง ปลุกเสก
เป็นของขลังชั้นดี พรีเมียม อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมล้นด้านมหาอำนาจ เด็ดขาดด้านปกครอง นามหนึ่งเรียก ตะกรุดไม้ครู
อีกนามได้สมญา “นิ้วเพชรพระอิศวร” ที่มีผู้รู้แสวงหากันมากจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่น้อยคนนักจะได้สมปรารถนา อย่าง เสี่ยคำรณ สัยยะนิฐี ที่หามากว่า ๓๐ ปี เพิ่งได้ ตะกรุด ดอกนี้ ที่งามสมบูรณ์ ดูง่าย ปลื้มใจสุดๆ
อีกรายการก็เป็น ตะกรุดสำนัก หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูงของ เสี่ยวุฒิชัย ทองสะพัก ซึ่งเป็นเครื่องรางระดับพรีเมียมเหมือนกัน เด่นด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม ชิ้นนี้ขนาด ๓ นิ้ว กำลังดี–ลายถักเชือกเรียบร้อย เป็นจุดที่บอกว่าถักแบบไหน ของพระเกจิอาจารย์สำนักไหน
มาถึงเรื่องปิดท้ายที่ขาดไม่ได้ ว่ากันถึง เสี่ยปุ้ย เจ้าของธุรกิจขายรถมอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์ ซึ่งได้รับ พระสมเด็จบาง-ขุนพรหมพิมพ์ฐานคู่ กรุเจดีย์เล็ก จากพ่อที่เป็นห่วงลูก เพราะเห็นทำกิจการเกี่ยวกับความเร็ว เสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ
เสี่ยปุ้ย เอาพระไปให้เพื่อนเซียนพระดู ก็ยกนิ้วให้บอกเป็น พระแท้ สวยเยี่ยม ถ้าขายก็ซื้อเลย เสี่ยปุ้ย ฟังแล้วยิ้มแป้น บอกขายไม่ได้พ่อให้มา แล้วขอพระคืน เอาคล้องคออย่างภาคภูมิ
เวลาผ่านไปได้ ๒ เดือน เสี่ยปุ้ย ขี่บิ๊กไบค์ไปประสบอุบัติเหตุ เพราะหลบสิบล้อจนตกถนน รถพังยับ ตัวเองสลบเหมือดหมดสติ มาตื่นอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล
ลืมตามา เห็นหมอพยาบาล ญาติโยมเต็มห้อง จึงรู้ว่าตัวเองสลบ หลับลึกไป ๑ วัน ๑ คืน แต่ร่างกายได้รับบาดเจ็บแค่ประปราย
หมอเห็นคนเจ็บรู้สึกตัวดี ก็ชวนคุย ว่าสงสัยพระดีช่วยไว้ เกิดอุบัติเหตุรุนแรงขนาดนี้ ร่างกายถึงไม่เป็นอะไรมาก
เสี่ยปุ้ย นึกได้ ถามทันทีว่า พระผมอยู่ไหน หมอบอกว่าเก็บไว้ให้อย่างดี เพราะเห็นว่าเป็นของดีมีค่า และคงศรัทธามาก เพราะขนาดสลบตอนถูกหามมา มือยังกุมพระแน่น ง้างไม่ออกเลย คงมีสติ ขอให้พระคุ้มครองนะ
เสี่ยปุ้ย ส่ายหน้า บอกที่พระคุ้มครองนั้น ท่านคงช่วยเอง แต่ไอ้ที่ผมกุมพระแน่นนั้นไม่ได้อาราธนา แต่เพราะเป็นห่วงว่าพระจะหาย จึงต้องคุ้มครองพระ–เพราะเพื่อนเซียนเคยขอซื้อ ๕ แสน เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง
โปรย