สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 นครสวรรค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เพื่อให้ทั้งสามหน่วยงานร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง โดยคำนึงถึงศักยภาพ บทบาทหน้าที่ และบริบทของแต่ละหน่วยงาน
นายแพทย์ ดิเรก ขำแป้น ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และจังหวัดชัยนาท ในปี 2565 สถานการณ์มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก พบมากที่สุดคือจังหวัดนครสวรรค์ รองลงมาจังหวัดพิจิตร และจังหวัดชัยนาท ลำดับที่ 3 โดยสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกจังหวัดชัยนาท 1 – 2 ปี จะมีการระบาดครั้งหนึ่ง ซึ่งปีนี้มีการระบาดอยู่ในอันดับต้นๆของเขต ในหลายอำเภอของจังหวัดชัยนาท เช่น อำเภอหนองมะโมง สรรพยา และอำเภอมโนรมย์ จากสถานการณ์ดังกล่าวหาก 3 หน่วยงานจับมือกันได้ ดำเนินการไปด้วยกันคิดว่าเราสามารถจัดการได้
นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า จังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดที่มีความชุ่มชื้นมีทุ่งนาเยอะซึ่งจะทำให้มีแมลงจำนวนมาก โดยเฉพาะยุง ฉะนั้น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท สคร.3 และ สสจ.ชัยนาท ได้มาทำ MOU ร่วมกันเพื่อหาวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกให้กับคนในจังหวัดชัยนาท
นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการควบคุมแหล่งรังโรคโดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งมีกำลัง อสม.ในการดูแล เป็นผู้ปฏิบัติ และมีทีมเสริม คือ อบจ.มาเสริมเรื่องของทราย ยาฆ่าแมลงกรณีการระบาด จากการสำรวจบางแห่งยังมีลูกน้ำยุงลายอยู่เพราะยังมีฝนตกอยู่บ้าง คาดว่าช่วงหน้าแล้งจะเป็นช่วงที่เราเตรียมความพร้อมรับมือ ซึ่งช่วงเวลาการระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน คาดการณ์ว่าปีนี้จังหวัดชัยนาทจะมีการระบาดมากกว่าปีก่อนๆ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลให้เต็มที่
สำหรับอำเภอที่มีการระบาดบ่อย เนื่องจากสภาวะที่เหมาะสม เช่น ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ ตำบลเขาแก้ว อำเภอสรรพยา และทุกแหล่งที่เป็นตัวเมือง โดยเฉพาะอำเภอเมือง เมื่อมีการระบาดแล้วจะมีการระบาดไปเร็วมาก อาจเป็นได้ถึง 100 เคสในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ขอฝากพี่น้องประชาชนว่า การดูแลลูกน้ำยุงลายดีที่สุดคือเจ้าของบ้าน ทำลายแหล่งเพาะยุงลายทุก 7 วัน สิ่งสำคัญคือเรื่องขยะ เพราะเป็นแหล่งรังโรคของยุงลาย ควรคัดแยกขยะถูกวิธี กำจัดขยะอย่างครบวงจร